ประกวดธิดากาสร สระแก้ว – จัดประกวดธิดากาสร โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนฝึกการทำนาด้วยควายสำหรับเกษตรกร ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในงานประเพณีสู่ขวัญควาย จ.สระแก้ว

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 พ.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เดินทางไปเป็นประธาน ร่วมกับ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า และประชาชน ในโครงการสืบสานประเพณีสู่ขวัญควาย จังหวัดสระแก้ว ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ค.61 โดยมีนายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวเปิดงานและความเป็นมาของโรงเรียนฝึกสอนการใช้กระบือหรือควายไทยในการทำนาของโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการบูรณาการจัดงานประเพณีสู่ขวัญควาย ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่อนุรักษ์สืบทอดต่อ ๆ กันมา ซึ่งหนึ่งในจุดเด่นของงานคือ การประกวดธิดากาสร หรือ ธิดาควาย ซึ่งปีนี้มีผู้เข้าประกวดทั้งสิ้น 20 คน และผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นธิดากาสร ประจำปี 2561 คือ น.ส.ณัฏฐา มหาศักดิ์ศิริ หรือ น้องปอย ส่วนรองอันดับ 1 น.ส.ปิยาภรณ์ เตยหอม และรองอันดับ 2 น.ส.นกจุฑามาศ สังข์ว่อง ซึ่งจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานกิจกรรมของโรงเรียนและกิจกรรมด้านวัฒนธรรมของจังหวัดสระแก้ว

ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ขึ้นที่จังหวัดสระแก้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกกระบือ ให้สามารถไถนาและทำงานด้านเกษตรกรรม และสอนผู้ที่ต้องการใช้กระบือทำการเกษตร ให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลกระบือให้มีสุขภาพแข็งแรง เนื่องจากกระบือเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับชาวนามาช้านาน ตั้งแต่อดีตกาล เป็นสัตว์ให้คุณ เป็นกำลังหลักของชาวนาในการปลูกข้าวเลี้ยงผู้คนมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันกระบือถูกใช้งานน้อยลง เพราะวิถีเกษตรกรเปลี่ยนไปจากใช้แรงงานกระบือ เป็นใช้แรงงานจากเครื่องจักรกลแทน

นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ประเพณีสู่ขวัญควาย เป็นการเตือนสติ เตือนจิต เตือนใจ ให้คนมีความกตัญญูกตเวที รำลึกถึงบุญคุณของผู้ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ตนเอง ได้แสดงการตอบแทนบุญคุณผู้ที่ได้กระทำแก่ตน อย่างเช่น กระบือได้ใช้แรงงานในการไถคราด พลิกแผ่นดิน อันเป็นของหนัก เพื่อหว่านข้าว เพาะปลูกข้าว ปลูกพืชผัก จนได้รับผลประโยชน์จากแรงงานของกระบือ คือได้ข้าวสำหรับบริโภคเลี้ยงชีวิต ซึ่งในขณะที่คนได้ไถคราด บางครั้งดุด่า เฆี่ยนตีกระบือ ซึ่งอาจจะกระทำโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทั้งที่กำลังมีแอกต่างคออยู่ หนักแสนหนัก เหนื่อยแสนเหนื่อย เมื่อคนระลึกบุญคุณของกระบือซึ่งเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณ ชาวนาจึงมีการหาวิธีที่จะตอบแทนบุญคุณของกระบือ และอโหสิกรรมต่อกระบือโดยวิธีสู่ขวัญกระบือ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีการสู่ขวัญควาย ให้คงอยู่สืบต่อไป

ทางด้าน นายฉัตรพงษ์ กุลพงษ์ ผู้จัดการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ กล่าวว่า โครงการต่าง ๆ ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ดำเนินการและพัฒนา ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานประเพณีโบราณให้คงอยู่สืบต่อไป และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสระแก้ว โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การประกวดธิดากาสร การแสดงศิลปวัฒนธรรม สาธิตการทำคันไถ การยาลานนวดข้าวด้วยมูลกระบือ สาธิตการใช้ควายไถนา สาธิตการตำข้าว กิจกรรมปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า นิทรรศการเกี่ยวกับการทำขวัญควายและวันอนุรักษ์ควายไทย กิจกรรมการปั้นควาย เป็นต้น

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link