รมว.แรงงาน สั่งเร่งช่วยเหลือคนงานไทยกลับจากแอฟริกาใต้ให้ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน

รมว.แรงงาน สั่งเร่งช่วยเหลือคนงานไทยกลับจากแอฟริกาใต้ให้ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งเร่งช่วยเหลือคนงานไทยที่กลับจากแอฟริกาใต้แต่ยังไม่ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนให้ได้รับเงินคืนโดยเร็วและครบเต็มจำนวนตามสิทธิประโยชน์ที่จะต้องได้รับ หลังคนงานไทยเข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงแรงงานขอคืนเงินกองทุนฯ ขณะที่มีแรงงานบางส่วนได้รับเงินคืนแล้ว 708 คน จาก 1,185 คน รวมเป็นเงิน 74,041,331.65 บาท

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการรับเรื่องร้องทุกข์จากคนงานไทยกรณีกลับจากทำงานที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้แล้วแต่ยังยังไม่ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืน ว่าคนงานไทยดังกล่าวประสงค์จะทราบระยะเวลาและจำนวนเงินสะสมที่จะได้รับคืน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทราบเรื่องแล้วและได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือให้ได้รับเงินคืนครบเต็มจำนวนตามสิทธิประโยชน์ที่จะต้องได้รับ ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล ได้เชิญคนงานไทยเข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจง พร้อมด้วยนายจ้างที่แอฟริกาใต้ และผู้แทนบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานให้กับนายจ้างที่แอฟริกาใต้ โดยบริษัทจัดหางานฯ ได้ชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนและระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าว และได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการร่วมกับนายจ้างยื่นขอคืนเงินให้คนงานทุกคนรวม 1,185 คน ซึ่งจะทะยอยได้รับจนครบทุกคนภายในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561) ทั้งนี้สาเหตุที่ล่าช้า นายจ้างแจ้งว่าเนื่องจากในระยะแรกนายจ้างได้ว่าจ้างบริษัท Outsource เป็นผู้ดำเนินการคืนเงินสะสมให้คนงาน แต่หลังจากนายจ้างมาดำเนินการเองสามารถคืนเงินสะสมให้คนงานได้แล้ว จำนวน 708 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,542,236.34 แรนด์ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 แรนด์ = 2.2 บาท โดยประมาณ หรือประมาณ 64,992,919.95 บาท)

สำหรับหลักเกณฑ์การส่งเงินสะสมนั้น ลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามจำนวนที่หน่วยงาน Metal Industries Benefits Funds (MIBFA) กำหนดในแต่ละปี ลูกจ้างจะขอคืนได้เมื่อพ้นสภาพของการเป็นลูกจ้างคือ เลิกจ้าง ลาออก เป็นต้น โดยขั้นตอนและระยะเวลาการขอคืนเงินตั้งแต่การเตรียมเอกสารของนายจ้าง การตรวจสอบเอกสารของ MIBFA จนถึงการอนุมัติและคืนเงิน ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน

นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินน่าจะติดตามได้ไม่ยาก เพราะทุกอย่างต้องมีเอกสารหลักฐาน ต้องโปร่งใส สิทธิประโยชน์ที่คนงานไทยจะได้รับต้องเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะท่านรัฐมนตรีให้ความสำคัญและติดตามทุกวัน ซึ่งกรมการจัดหางานจะได้เร่งดำเนินการติดตามผลให้โดยเร็ว และแจ้งให้คนงานทราบต่อไป

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link