“บิ๊กอู๋”สั่ง กสร.ช่วยลูกจ้างพนักงานโรงแรมที่พิษณุโลก ได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย รมว.แรงงาน สั่ง กสร. ช่วยเหลือลูกจ้างกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง พร้อมให้พนักงานตรวจแรงงานชี้แจงให้นายจ้างลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

“บิ๊กอู๋”สั่ง กสร.ช่วยลูกจ้างพนักงานโรงแรมที่พิษณุโลก ได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

รมว.แรงงาน สั่ง กสร. ช่วยเหลือลูกจ้างกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง
พร้อมให้พนักงานตรวจแรงงานชี้แจงให้นายจ้างลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์แรงงานอย่างใกล้ชิดและมีความห่วงใยกรณีที่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง
ใน จ.พิษณุโลก และผู้ประกอบการเอกชนกว่า 30 คนเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.61
ว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และค่าจัดงานนั้น โดย รมว.แรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบและให้การช่วยเหลือคุ้มครองลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังให้ชี้แจง
ทำความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พิษณุโลก พบว่า บริษัท 59 ฟิวเจอร์ จำกัด มีลูกจ้าง 35 คน ได้เข้าไปบริหารกิจการโรงแรม แกรนด์ พอยท์ จำกัด หรือโรงแรมลาพาโลมา ซึ่งเป็นของบริษัท กริชอินทรา (1989) จำกัด
เมื่อเดือนธันวาคม 2560 แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงไม่สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามกำหนดเวลา และลูกจ้างไม่เข้าไปทำงาน ทั้งนี้ พนักงานตรวจแรงงานได้ชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและการคืนเงินประกัน รวมทั้งแนวโน้มการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบด้วยแล้ว

ด้าน นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าว กสร.ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ลูกจ้างของ บริษัท 59 ฟิวเจอร์ จำกัด 24 คน ได้มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานว่านายจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้าง และไม่คืนเงินประกันการทำงาน พนักงานตรวจแรงงานได้สอบข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง และคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างทั้ง 24 คน รวมเป็นเงิน 350,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามการปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของนายจ้าง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินคดีกับนายจ้างต่อไป สำหรับความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน
1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ประสานให้มายื่นคำร้องเพื่อจะได้ดำเนินการให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link