กำหนดกรอบหลักการในการดำเนินการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน”

ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 กำหนดกรอบหลักการในการดำเนินการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” 10 เรื่อง โดยกรอบที่ 3 เรื่องชุมชนอยู่ดีมีสุข โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 82,371 แห่งๆ ละ 200,000 บาท เป็นเงิน 16,474.2 ล้านบาท
การดำเนินโครงการฯ นั้น คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน จะประชุมประชาคม เพื่อนำปัญหาความต้องการที่ได้จากการประชุมประชาคมโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หรือจากแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน มาพิจารณาคัดเลือกปัญหาความต้องการที่ตรงกับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ซึ่งจะต้องเป็นการดำเนินกิจกรรมอันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ หมู่บ้าน/ชุมชน ละไม่เกิน 2 โครงการ ในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณประโยชน์อื่นๆ จัดส่งให้อำเภอเพื่อเสนอขอรับงบประมาณ
ปัจจุบัน มีโครงการที่ผ่านการประชุมประชาคมแล้ว 87,852 โครงการ อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) ซึ่งมีตัวแทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ ร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาอนุมัติ จากนั้นอำเภอจะจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณส่งผู้ว่าราชการจังหวัด และกองจัดทำแผนงบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) สำนักงบประมาณ พิจารณาเห็นชอบตามลำดับ โดยคาดว่างบประมาณทั้งหมดจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารของหมู่บ้าน/ชุมชน ภายในเดือนมิถุนายนนี้
เมื่อได้รับงบประมาณแล้ว หมู่บ้าน/ชุมชนจะเป็นผู้ดำเนินการโครงการเองทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับงาน/พัสดุ ตลอดจนการเบิกจ่ายเงินโครงการ โดยจะมีคณะผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้าง คณะผู้รับผิดชอบการตรวจรับพัสดุ และ คณะผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินและจัดทำบัญชี ซึ่งเป็นประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมประชาคม ทั้งนี้การดำเนินโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 กันยายน 2561
อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่รัฐบาลมุ่งหวังเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยประชาชนเป็นผู้เสนอความต้องการ และเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งนี้ ขอให้ผู้ดำเนินการโครงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนคู่มือการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ดำเนินโครงการด้วยความสุจริตโปร่งใส ยึดถือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link