ครม.สัญจรลงพื้นที่พบผู้ปกครองเด็กอาชีวะและติดตามจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาร่วมกับกรมราชทัณฑ์

วันนี้ 11 มิถุนายน 2561 วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชน และประมวลประเด็นปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4 / 2561 ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการอาชีวศึกษา ซึ่งเปิดโอกาสและพัฒนาให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนสาขาวิชาชีพ เพื่อการมีงานทำ ซึ่งมีกำหนดลงพื้นที่ สถานศึกษาอาชีวศึกษา จำนวน 3 แห่ง ดังนี้ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมพื้นที่สถานศึกษา และเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ที่วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร พร้อมทั้งเยื่ยมชมผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา อาทิ รถไฟฟ้าสำหรับผู้พิการแขน เรือสะเทินน้ำสะเทินบก V 2 ฝาช่วยถอดเข็มฉีดยา อุปกรณ์ช่วยยึดจับบันได กระเป๋าตั้งใจเรียน น้ำสลัดเพื่อสุขภาพจากมะม่วงหาว มะนาวโห่เสริมแปะก้วย เครื่องไล่แมลงวันบนโต๊ะอาหาร ตะเกียงแก๊สสำหรับชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ชุดราวตากผ้าอินฟาเรส ระบบช่วยเหลือเปิดกระจกอัตโนมัติเมื่อรถตกน้ำ ณ วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร จังหวัดพิจิตร
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้มอบหมายให้ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง 2 (NEC) พร้อมพบปะผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จบแล้วมีงานทำ” เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสถานประกอบการในการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจกับผู้ปกครองในการสนับสนุนบุตรหลานให้เรียนอาชีวศึกษาซี่งเมื่อจบแล้วสามารถหางานได้ง่าย รวมทั้งให้กำลังใจกับนักเรียน นักศึกษาที่เลือกเรียนอาชีวศึกษา พร้อมเสนอแนวทางในการทำงานและการศึกษาต่อ
ทั้งนี้ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ได้มอบนโยบาย ข้อเสนอแนะในการพัฒนาศูนย์ประสานงานฯ ณ วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ โดยเปิดเผยว่า ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้ความสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำยุทธศาสตร์และจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ทั้งนี้ สอศ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อน และได้มีการประกาศจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ทั่วทุกภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SEC) ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคกลาง (CEC) และศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน
สำหรับศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (NEC) ภาคเหนือตอนล่าง 2 กำหนดให้วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ เป็นศูนย์การประสานงานของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และเป็นศูนย์หลักในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลระดับภาค คือ ภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี เพื่อเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการของสถานประกอบการ ศูนย์ประสานงานฯ ได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การบันทึกข้อมูลโปรแกรม (Big Data System) ให้กับหัวหน้างานศูนย์ข้อมูลในสถานศึกษา 4 จังหวัด รวม 17 แห่ง
พลเอก สุทัศน์ กล่าวต่อไปว่า ได้ศึกษาข้อมูลสถานประกอบการในเขตพื้นฐานภาคเหนือตอนล่าง 2 นำข้อมูล Demand (ความต้องการของสถานประกอบการ) Sypply (กำลังในการผลิตกำลังคน) เพื่อบันทึกลงฐานข้อมูล Big Data System รวมทั้งศึกษาความต้องการของสถานประกอบการในท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่าง 2 และสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง 2 (NEC-TVET Career Center) ซึ่งมีการแบ่งโครงสร้างการบริหารงานศูนย์ประสานงานฯ ออกเป็น 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายข้อมูลกลาง ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ พลเอก สุทัศน์ เยี่ยมชมนิทรรศการ ผลงานนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาภาคเหนือ ที่ได้รับรางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่อาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 ระดับชาติ อาทิ รถป้องกันเด็กติดในรถ รถสามล้อเพื่อผู้สูงอายุ เครื่องกะเทาะเปลือก โพเดียมเอนกประสงค์ รถไฟฟ้าจากพลังงานเครื่องยนต์เล็ก อุปกรณ์คว้านเม็ดลำไย สเปรย์กำจัดเห็บสุนัขจากสารสกัดสมุนไพรแห้วหมู เครื่องเตือนเด็กติดในรถ ฯ
โดยในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นในการตรวจเยี่ยมติดตามการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง ณ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งดำเนินการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรระยะสั้น ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี และวิทยาลัยสารพัดช่างอุทัยธานี เป็นผู้ดำเนินการสอน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาพฤติกรรม นิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำเฉพาะทาง ประเภทเรือนจำการศึกษา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการยกระดับและพัฒนาการอาชีวศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาด้านวิชาชีพ ให้ได้รับวุฒิการศึกษา สายวิชาชีพ และนำไปใช้ประกอบสัมมาชีพ และพัฒนาตนเองได้ในอนาคต และร่วมมือแก้ไขฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำเฉพาะทางประเภทเรือนจำการศึกษา อย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรมในการคืนคนดีมีคุณค่าสู่สังคมตามนโยบายของรัฐบาล ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติภารกิจด้านการแก้ไข ฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยในเรือนจำเฉพาะทางให้เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการเรียนการสอนสายอาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น
ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการด้านอาชีวศึกษาร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 358 แห่ง มีจำนวนผู้เรียนด้านอาชีวศึกษา และการฝึกวิชาชีพปีการศึกษา 2559 – 2560 จำนวน 68,972 คน โดยในปีการศึกษา 2559 มีจำนวนผู้เรียน ดั้งนี้ หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น จำนวน 28,139 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 5,268 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 1,830 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 35,237 คน และในปีการศึกษา 2560 มีผู้เรียนในหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นจำนวน 25,946 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 5,973 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 1,816 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 33,735 คน
สำหรับจังหวัดอุทัยธานี จัดการเรียนการสอนและอบรมวิชาชีพเฉพาะสาขา โดยวิทยาลัยเทคนิคอุทัยธานี วิทยาลัยสารพัดช่างอุทัยธานี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี ได้จัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา และอบรมวิชาชีพเฉพาะสาขา มีจำนวนผู้ต้องขังที่เข้ารับการศึกษาในปัจจุบัน ดังนี้ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 486 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 236 คน และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น จำนวน 107 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 829 คนนอกจากนี้พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร และมอบนโยบายให้กับผู้บริหาร ข้าราชการครูอาชีวศึกษา พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิชาชีพเฉพาะทาง นิทรรศการ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ พร้อมด้วย ดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์ และคณะผู้บริหาร

สมยศ แสงมณี / ภาพ / ข่าว

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link