สภากทม.พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณกทม.ปี 62 แบบสมดุล 80,000 ล้านบาท วาระแรก

สภากทม.พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณกทม.ปี 62 แบบสมดุล 80,000 ล้านบาท วาระแรก

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม 61 เวลา 10.00 น. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3 ) ประจำปีพุทธศักราช 2561 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพ มหานคร หัวหน้าส่วนราชการของกรุงเทพ มหานคร และ ผู้อำนวยการเขต 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพ มหานคร

ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2562 เพื่อให้ที่ประชุมสภากรุงเทพ มหานครพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งในเบื้องต้นหน่วยงานที่ขอจัดสรรงบประมาณสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา 10,105 ล้านบาท สำนักสิ่งแวดล้อม 7,068 ล้านบาท สำนักการระบายน้ำ 4,871

ล้านบาท หน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด คือ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 73ล้านบาท ในส่วนของสำนักงานเขตที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คือ ลาดกระบัง บางขุนเทียน หนองจอก ตามลำดับ และเขตที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด คือ บางกอกใหญ่

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลักการแห่งร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2562 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นจำนวนไม่เกิน 80,445.801 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 หมื่นล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 451.801 ล้านบาท โดยสถานะการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 31 พ.ค.61 กรุงเทพมหานครมีเงินฝากธนาคารเป็นจำนวน 57,547.50 ล้านบาท มีภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 ก.ย.60 จำนวน 212 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 47,393.09 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่างๆ ยกเว้นการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่าย รวมทั้งสิ้น 106,809.54 ล้านบาท กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นต้องพิจารณาปรับลดงบประมาณให้คงเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน และภาระผูกพันของงานและโครงการต่างๆ เพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ซึ่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2529 กำหนดไว้ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีห้ามมิให้ตั้งรายจ่ายประจำสูงกว่ารายได้ประจำ กรุงเทพมหานครจึงขอเสนอนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เป็นแบบสมดุลงบประมาณกำหนดจำนวนเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท เท่ากับการประมาณการรายรับของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรายละเอียดของงบประมาณการรายรับที่ใช้เป็นกรอบวงเงินในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ดังนี้ รายรับของกรุงเทพมหานคร จำนวน 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการรายได้ปี 2561 คิดเป็น 1,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.91) ประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 750.61 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 116.69 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.46 นอกจากนี้ยังมีกรอบงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการจัดสรรจำนวน 21,918.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1,023.86 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.90 เสนองบประมาณขับเคลื่อน 5 นโยบายสำคัญ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2562 ที่กรุงเทพ มหานครได้นำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพ มหานครให้ความเห็นชอบนั้น ได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเกิดความคุ้มค่า ประหยัด และคำนึงถึงประโยชนที่คาดว่าจะได้รับจากการจ่ายเงิน และความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาต่างๆ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556- 2575) แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพ มหานครประจำปี พ.ศ.2562 รวมทั้งการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย NOW “ทำจริง เห็นผลจริง”มาใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ภายใต้กรอบแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้ปวงชนชาวไทย
ในส่วนของนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประกอบด้วย นโยบายที่ 1 สะอาด : บ้านเมืองสะอาด การบริหารราชการใสสะอาด ได้แก่ การดูแลรักษาเมืองให้เป็นมหานครที่สะอาด เป็นระ เบียบ เรียบร้อย และสวยงาม ขอรับการจัด สรรงบประมาณ จำนวน 5,629 ล้านบาท นโยบายที่ 2 สะดวก : เดินทางสะดวก ใช้ชีวิตสะดวก ข้อมูลสะดวก ได้แก่ การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง การเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทาง การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 7,435.43 ล้านบาท นโยบายที่ 3 ปลอดภัย : ชีวิตปลอดภัย ทรัพย์สินปลอดภัย ชุมชนและสังคมปลอดภัย ได้แก่ การติดตั้งกล้องCCTVในพื้นที่จุดเสี่ยง การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัย การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 977.20 ล้านบาท นโยบายที่ 4 คุณภาพชีวิตดี : ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ได้แก่ การขยายพื้นที่การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,301.96 ล้านบาท นโยบายที่ 5 วิถีพอเพียง : ภูมิใจในรากฐานไทย พอใจในความเป็นอยู่ ดำเนินการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยให้ดำรงอยู่เป็นมรดกตกทอดสืบต่อความเป็นไทย ขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 170.27 ล้านบาท

สภากทม.กำหนดอภิปราย18-19 ก.ค. ก่อนรับหลักการวาระ 1ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2562ว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาร่างบัญญัติดังกล่าวในวาระแรก สภากรุงเทพ มหานครได้กำหนดให้สมาชิกสภากรุงเทพ มหานครได้ร่วมกันอภิปรายระว่างวันที่ 18 – 19 ก.ค.61 โดยจะร่วมกันแสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ รวม 15 ด้าน ได้แก่ ด้านความสอดคล้องของงบประมาณของกรุงเทพมหา นครในภาพรวมกับยุทธ ศาสตร์ ด้านรายได้และการจัดเก็บรายได้ ด้านเงินอุดหนุนรัฐบาล ด้านงบประมาณการพาณิชย์ของกรุงเทพ มหานคร ด้านรายจ่ายงบกลาง ด้านการศึกษา ด้านจราจร ด้านการจัดระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อย และด้านการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
สำหรับการอภิปรายในประเด็นแรก คือ ด้านความสอดคล้องของงบประมาณของกรุงเทพมหานครในภาพรวมกับยุทธศาสตร์ นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน พบว่าฐานการจัดเก็บภาษีเปลี่ยนไป อาทิ ภาษีป้าย ภาษีน้ำมัน ทำให้รายได้จากส่วนดังกล่าวลดน้อยลง และคาดว่าจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อกทม.จัดเก็บไม่ได้ กทม.จึงจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายรับและรายได้ให้กับกรุงเทพมหานคร ทั้งการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม รวมทั้งค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ให้มีความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ในประเด็นอื่นๆ สภากรุงเทพมหานครจะทำการอภิปรายต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 ก.ค. และลงมติเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2562 ต่อไป

ผ่านเลนส์ 005~รายงาน
————————————-

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link