“เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หยุดการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ”

“เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : หยุดการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ”
ในวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ณ Hall 5 – 8 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรม Thailand Social Expo 2018 โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นการแสดงผลงานด้านสังคมของรัฐบาลและงานมหกรรมด้านสังคมครั้งแรกของประเทศไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ด้านสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กว่า 90 องค์กร/หน่วยงาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป นอกจากนี้ ภายในงาน ยังได้มีการเสวนา ประเด็นที่น่าสนใจของสังคมในปัจจุบัน หัวข้อ “เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หยุดการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ” ซึ่งมีวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ มาถ่ายทอดสร้างความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ ประกอบด้วย 1. ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสตรี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ถ่ายทอดในมุมมองของนักวิชาการ 2. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ถ่ายทอดในมุมมองและความมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวในฐานะผู้แทนภาครัฐ 3. คุณสิรินยา บิชอป (ซินดี้) ผู้ก่อตั้งการรณรงค์ Don’t Tell Me How to Dress ) ซึ่งมาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของตนเองในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ดำเนินรายการโดย นายธนชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พอช.) โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจจากมุมมองของแต่ละท่านที่สังคมต้องร่วมมือร่วมใจกันปกป้อง คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของตนเองและผู้อื่นด้วย ดังนี้

ดร.จุรี วิจิตรวาทการ กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน และ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ให้ถูกดูหมิ่น ดูแคลน ถูกรังแก ถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกกระทำความรุนแรงที่มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางด้านร่างกาย จิตใจ รวมทั้ง ความรุนแรงทางคำพูด ตลอดจนการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ซึ่งเป็นความรุนแรงต่อบุคคลทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ทุกคนจะต้องพึงระลึกว่า เราทุกคน ไม่มีสิทธิที่จะกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบกับเพื่อนมนุษย์ทุกคน เราจึงต้องสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างการยอมรับ และให้เริ่มจากตัวเรา ด้วยจากการดูแลสมาชิกในครอบครัวของตนเอง และไม่กระทำความรุนแรงกับใครไม่ว่าจะทางกาย ทางใจ และทางคำพูดก็ตาม
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ได้มีการดำเนินงานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรี และขจัดความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งสืบเนื่องมาจากที่ประเทศไทยรับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW ทำให้รัฐบาลต้องมีการออกมาตรการต่างๆ รวมทั้งแก้กฎหมายต่างๆ ในการสร้างความเท่าเทียม สร้างความเป็นธรรมและขจัดการเลือกปฏิบัติด้วย โดยรัฐบาลได้ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดย สค. มีกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการระดับชาติ (คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ) และยังมีคณะอนุกรรมการในระดับจังหวัด (คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัว) ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ก็ยังมีศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทุกจังหวัด และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ที่เป็นกลไกระดับพื้นที่ในการร่วมกันขับเคลื่อนงานเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและขจัดความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้ง ยังมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมมือกัน ช่วยกันในการรณรงค์และผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในการยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา สค. ได้มีการรณรงค์ให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยให้ความรู้ ส่งเสริมให้ครอบครัวมีเวลาว่างในการทำกิจกรรม สร้างความอบอุ่นในครอบครัวร่วมกัน ซึ่ง ข้อมูลการกระทำความรุนแรง พบว่า 70% เป็นความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้หญิงและเด็กหญิง เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด และผู้กระทำมักเป็นสามีหรือบิดา ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง คือ สุราและยาเสพติด นอกจากนี้ ความรุนแรงในสังคมทั่วไป ยังเริ่มต้นมาจากปัญหาของครอบครัวด้วย ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาในครอบครัว ก็จะลุกลามมาสู่ปัญหาสังคมได้เช่นกัน ดังนั้น การสร้างการรับรู้ของคนในสังคมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ความคิดที่ว่า “การทำร้ายร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องปกติ” เป็นสิ่งที่ผิด และต้องปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก โดยการให้ความรู้ในเรื่องกฎหมาย เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การให้เกียรติบุคคลอื่น จึงควรต้องปลูกฝังให้เด็กอย่างเข้มข้น
“การขจัดการเลือกปฏิบัติ และการขจัดความรุนแรง จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อให้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งความรุนแรงในสังคมลดลง” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย

ทางด้านคุณสิรินยา บิชอป (ซินดี้) กล่าวว่า ปัญหาและสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม คือ ทัศนคติที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งความคิดนี้ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทย แต่ยังเป็นความคิดที่หลายๆ ประเทศก็มีเช่นกัน ที่ว่า ผู้หญิงเป็นทรัพย์สิน ผู้ชายสามารถทำอะไรก็ได้ต่อผู้หญิงคนนั้น “แคมเปญอย่ามาบอกว่าให้ฉันแต่งตัวแบบไหน” Don’t Tell me how to dress เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ตรงที่ตัวซินดี้เองถูกกระทำ คือ การถูกล่วงละเมิดในวันสงกรานต์ ทั้งที่ไม่ได้แต่งกายวาบหวิว แต่ก็ยังโดนกระทำ ทำให้คุณซินดี้ตัดสินใจกล้าที่จะก้าวออกมาพูดในประเด็นนี้และเกิดเป็นแคมเปญดังกล่าว
คุณสิรินยา บิชอป (ซินดี้) กล่าวต่ออีกว่า ทัศนคติของสังคมที่มองว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง เนื่องมาจากการแต่งตัวของผู้หญิงและการที่ผู้หญิงคนนั้นพาตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์เสี่ยงแบบนั้นเอง ซึ่งคุณซินดี้มองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิทธิของบุคคล/ของผู้หญิงคนนั้น ที่เค้ามีสิทธิที่จะแต่งตัวแบบนั้น และมีสิทธิที่จะไปได้ในทุกที่ คนทุกคนไม่มีสิทธิที่จะไปกระทำหรือล่วงละเมิดบุคคลอื่นทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น สังคมกลับมองว่าเป็นความผิดของผู้หญิง แต่ไม่มีมุมมองอื่นๆ หรือมองว่าเป็นความผิดของผู้กระทำ และเรียกผู้กระทำมาตักเตือนเลย จึงทำให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่จะต้องคอยระวังตัวเองตลอดเวลา ทังนี้ ยังมีผลศึกษาของ UN ที่แสดงให้เห็นว่าสังคมจะไม่มีการลงโทษผู้ชายหากผู้ชายกระทำผิด จึงทำให้เกิดการกระทำซ้ำ เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่มีความผิด จากมายาคติในสังคมที่ว่า ผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะการแต่งกายของผู้หญิง และการข่มขืนจะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นนอกบ้านและจากคนที่ไม่รู้จัก แต่จริงๆ แล้วนั้น มีสถิติ 90% ของการข่มขืน คือ เกิดขึ้นในบ้าน และเกิดจากคนรู้จัก แต่เนื่องจากผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะออกมาพูดหรือเปิดเผยเนื่องจากเป็นคนรู้จักนั่นเอง
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การที่เราต้องมีความคิดว่า “เราไม่มีสิทธิที่จะไปทำร้ายผู้อื่น” และ “เราต้องไม่กระทำต่อผู้อื่น” โดยเราต้องให้เกียติซึ่งกันและกัน และ ห้ามไปจับต้องร่างกายบุคคลอื่นหากเขาไม่ยินยอม “ฝากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว โดยต้องรับฟังข้อมูลจากผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามว่า แต่งตัวยังไง และไปอยู่ในสถานการณ์นั้นทำไมหรืออย่างไร และต้องไม่ดูที่หลักฐานแค่ภายนอกเท่านั้น เนื่องจากหลายๆ การกระทำ ไม่มีหลักฐานที่ปรากฎชัดเจนได้ รวมทั้ง ต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำความรุนแรงหรือกระทำผิดด้วย ไม่ใช่จบลงแค่การไกล่เกลี่ย ยอมความ ซึ่งจะทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง” คุณสิรินยา บิชอป (ซินดี้) กล่าวในตอนท้าย

ที่มา …ประชาสัมพันธ์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link