ปทุมธานี วว. จับมือ5มหาวิทยาลัยรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมส่งเสริมโอทอป 10 จังหวัด

ปทุมธานี วว. จับมือ5มหาวิทยาลัยรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมส่งเสริมโอทอป10จังหวัด
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 สิงหาคม 2561 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีนายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ร่วมจับมือ 5 มหาวิทยาลัยภาครัฐ ลงนามความร่วมมือเดินหน้าส่งตรงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่ท้องถิ่น ในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด มุ่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการโอทอป สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และจังหวัดน่าน กับ 5 มหาวิทยาลัยภาครัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยด้วยนโยบายนวัตกรรมของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณค่าให้สามารถแข่งขันในตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

เป้าหมายสำคัญภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ คือการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมนวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการโอทอปในท้องถิ่น และร่วมดำเนินการเชิงบูรณาการตลอดจนเกิดการพัฒนาเครือข่าย วทน. อย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมจากหน่วยที่เล็กที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโอทอปและกลุ่มเกษตรกรได้นำเสนอความต้องการพัฒนาทาง วทน. เพื่อจับคู่เทคโนโลยีกับภูมิปัญญาหรือสินค้าของตน ซึ่งจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังมีแผนงานต่อเนื่องเป็นการคัดเลือกต้นแบบผู้ประกอบการ OTOP เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการสินค้า OTOP ประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ และของตกแต่ง ด้วย วทน. ในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด เพื่อสร้างความยั่งยืน และทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ในการใช้ วทน. อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านนายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายระดับประเทศให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบของวิสาหกิจขนาดเล็ก และวิสาหกิจชุมชน โดยต้องสร้างความเข้มแข็ง เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและลดต้นทุน รวมทั้งเติบโตได้ โดยมีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ โดย วว. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นกลไกหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามภารกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ตอบสนองการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุม พร้อมผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม.

อนันต์ ปทุมธานี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link