25 ปี สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

25 ปี สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2537 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ถือกำเนิดขึ้นโดยกลุ่มผู้รักสัตว์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์และลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพราะ “สัตว์” แม้จะพูดเองไม่ได้ เรียกร้องสิทธิให้ตัวเองไม่ได้เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ก็มีชีวิต จิตใจ มีความรู้สึก รับรู้ได้ถึงความทุกข์ทรมานเจ็บปวดจากการกระทำของมนุษย์ มนุษย์จึงควรปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เป็นผลจากการเรียกร้องกันมายาวนาน โดยมีสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และกลุ่มคนรักสัตว์ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับสมาคมฯ กรมปศุสัตว์ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ช่วยกันจนสามารถผลักดันให้กฎหมายนี้สำเร็จ มีผลบังคับใช้เมื่อ 27 ธันวาคม 2557 กว่า 4 ปีแล้วที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งปีที่ผ่านมาก็มีกระแสในการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการขึ้นทะเบียนสัตว์ ของกลุ่มสนช.และกรมปศุสัตว์ ซึ่งส่วนตัวก็เห็นด้วยในหลักการ การขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว แต่วิธีการต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบก่อน โดยเฉพาะต้องพิจารณาว่ากฎหมายที่จะแก้ไข เพิ่มเติมพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้น มีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์หรือไม่ ไปซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่ เพราะเดิม มีกฎหมายอย่างน้อย ถึง สองฉบับคือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ให้ขึ้นทะเบียนสัตว์อยู่แล้ว และการเสนอเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปนั้นย่อมเพิ่มภาระให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การขึ้นทะเบียนสัตว์จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาแต่ต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย คือ การทำหมัน ฉีดวัคซีน หาบ้านใหม่และการสร้างจิตสำนึกควบคู่กันไป สำหรับการนิยามสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาตินั้น ก็เป็นที่น่ายินดีที่มีการประกาศให้ครอบคลุมสัตว์ป่า เพิ่มอีก 5 ชนิด ซึ่งอนาคตควรมีการประกาศเพิ่มขึ้นและให้ครอบคลุมสัตว์ป่าให้มากยิ่งขึ้นด้วย
25 ปี สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทย (TSPCA) ที่ผ่านมา ได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ หลากหลายมิติ เช่น โครงการเผยแพร่เนื้อหาและวิธีใช้พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โครงการบ้านอุปถัมภ์ สัตว์จรจัดกว่า 5,500 ชีวิตจากบ้านอุปถัมภ์ 26 แห่งทั่วภูมิภาคของประเทศ ที่สมาคมฯ ดูแลทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค เพื่อให้สัตว์จรจัด มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการรักสัตว์ในโรงเรียน ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักและเมตตาต่อสัตว์ ซึ่งได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือเสริมประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณสัตว์ โดยจัดพิมพ์และมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง และร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ในการพัฒนาหลักสูตรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ การจัดตั้งสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ โครงการพัฒนาเครือข่าย จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 90 องค์กร ในการช่วยสอดส่องดูแลและช่วยลดปัญหาการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น ได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอมติมหาเถรสมาคมในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ ให้เขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามปล่อย และซื้อขายสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมทั้งได้การจัดกิจกรรมรณรงค์อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น “ทำบุญ ไม่ทารุณสัตว์” “ปล่อยนก บุญ หรือบาป?” และ “รักไม่ปล่อย” ในปีนี้ จะมีการจัดทำคู่มือและการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูวาฬและโลมา และที่ผ่านมา นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมฯ นายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจรักษาช้าง ที่ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เป็นต้น
เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้รับรางวัลระดับโลก “WORLD VETERINARY ASSOCIATION ANIMAL WELFARE AWARDS 2019” รองศาสตราจารย์นุชทิพย์ บรรจงศิลป์ อุปนายกสมาคมฯ ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นแห่งชาติ จากสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กรรมการและปฏิคมสมาคมฯ ได้รับมอบตำแหน่ง Wildlife Champion ในฐานะ “ทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก” จากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ หรือ USAID (U.S. Agency of International Development ) อีกด้วย

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จะยังคงมุ่งมั่นทุ่มเท ทำงานเพื่อสร้างสรรค์คุณประโยชน์ ในการช่วยเหลือดูแลสรรพสัตว์น้อยใหญ่ไม่ให้ได้รับการทารุณกรรมอย่างไม่สมควร และพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้ยั่งยืนสืบต่อไป

ุผ่านเลนส์ 005-รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link