ัพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม./รมต.กห. เป็นประธานในการแถลงผลการปฏิบัติของ ศปอส.ตร. โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ตร.

วันที่ 28 ก.ย. 61 เวลา 11.00 น. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม./รมต.กห. เป็นประธานในการแถลงผลการปฏิบัติของ ศปอส.ตร. โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ตร. ให้การต้อนรับ ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร.

ตามนโยบายรัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของอาชญากรรมาข้ามชาติที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยส่วนรวม จึงได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบที่หลอกลวงและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า ศูนย์ TACTICS โดยมี พลตำรวจเอก ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และมี พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เป็น หัวหน้าชุดปฏิบัติการฯ

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทุกรูปแบบ ดังนี้
1.ความผิดเกี่ยวกับแก็งค์ Call Center
2.ความผิดเกี่ยวกับ Romance Scam
3.ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงออนไลน์
4.ความผิดเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบ
5.ความผิดเกี่ยวกับต่างชาติกระทำผิดกฎหมาย Over Stay
6.ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
7.ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบเล่นการพนันแข่งม้า
8.ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการพนันออนไลน์
9.ความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางสาธารณะ(เด็กแว้น)
10.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (ยาทรามาดอล)
11.ความผิดเกี่ยวกับนอมินี
12.ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป
ตลอดระยะเวลา 1 ปี มีผลงานในการปราบปรามอาชญากรรมในคดีสำคัญมากมาย บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

1.Call center
ในอดีตประชาชนไทย ได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มมิจฉาชีพที่เป็นชาวต่างชาติ ที่อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เรียกว่า VOIP ปลอมเลขหมายโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐ โทรไปหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อและเกิดความกลัวในลักษณะหลายรูปแบบ เช่น มีชื่อเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด โดยเหยื่อซึ่งเป็นคนไทย ได้หลงเชื่อโอนเงินให้กับกลุ่มคนร้ายเป็นเม็ดเงินมหาศาล
ณ ขณะนั้น สถานีตำรวจท้องที่จะจับกุมถึงต้นตอเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมิจฉาชีพได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการอยู่ต่างประเทศ สามารถจับกุมได้เพียงหน้าม้าคนไทยที่เปิดบัญชีเงินฝากอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
ทาง ศปอส.ตร. ได้มีผลการดำเนินการดังนี้
การรับแจ้ง -รับแจ้ง 503 คดี
-ความเสียหาย 259,294,632 บาท
การดำเนินการ -9 ปฏิบัติการ 7 ประเทศ
-จับกุม ผู้ต้องหา 160 คน,ไต้หวัน 44 คน,มาเลเซีย 2 คน,กัมพูชา 5 คน,ไทย 109 คน
การเยียวยา -คืนเงินผู้เสียหายจำนวน 119 ราย
-รวมเป็นเงิน 24,613,671.43 บาท

2.Romance scam
“โรแมนซ์ สแกม” (Romance scam) ถืออีกภัยคุกคามหนึ่งในโลกออนไลน์อันไร้พรมแดน ทำให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อด้วยการหลอกลวงให้เหยื่อหลงรัก หรือเกิดความลภ ความหลง จนยอมโอนเงินให้กับกลุ่มคนร้าย ซึ่งตามสถิติทางคดีมีมากถึง 145 คดี ความเสียหายกว่า 85,529,454 บาท
จากความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนดังกล่าว จึงได้เร่งดำเนินการสืบสวนปราบปรามจับกุมกลุ่มผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่พูดคุยหลอกลวงซึ่งมักเป็นชาวต่างชาติผิวสี และผู้ร่วมกระทำผิดในหน้าที่อื่นๆ เช่น ถอนเงิน เปิดบัญชีธนาคาร แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือฟอกเงิน โดยที่ผ่านมาสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับรวม 58 นายเป็นสัญชาติไนจีเรียได้ 20 ราย และสัญชาติไทย 38 ราย นอกจากนี้ยังจับกุมความผิดซึ่งหน้าได้อีก 25 ราย เป็น สัญชาติไนจีเรีย 8 ราย สัญชาติแคเมอรูน 1 ราย และสัญชาติไทย 16 ราย โดยยึดและอายัดทรัพย์สิน คืนเงินให้แก่ประชาชน(ผู้เสียหาย) ได้ 9 ราย เป็นเงินกว่า 2,085,000 บาท
คดีตัวอย่างคดีที่น่าสนใจ พร้อมนำเสนอดังนี้

1. จับกุมเครือข่าย “คนถอนเงิน คนโทรหลอก” ก่อเหตุในพื้นที่ สน.สุทธิสาร ,สภ.เมืองกำแพงเพชร และ สภ.เมืองระยอง ความเสียหายรวม 233,500 บาท จับกุมผู้ต้องหาชาวไนจีเรีย 1 ราย ทำหน้าที่ เป็นผู้ถอนเงิน และภรรยาชาวไทย 1 ราย ทำหน้าที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายพร้อมด้วยบัตรถอนเงินสด และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการกระทำความผิด( ภาพเคสที่ 1)
2. จับกุมเครือข่าย “ปลอมเงินดอลล่าร์” ได้จับกุม MR.JEAN ERIC TOUKAM (นายจีนอิริคทูคาม) อายุ 41 ปีสัญชาติแคเมอรูนได้พร้อมธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐปลอม จำนวน 5,014 ฉบับ และอุปกรณ์ที่ใช้ปลอมธนบัตร ซึ่งได้รับจากมาจากผู้ร่วมเครือข่ายในต่างประเทศ
3.จับกุมเครือข่าย “กลุ่มม้าถอนเงิน จ.ตราด” เชื่อมโยงผู้เสียหาย 18 ราย ความเสียหายรวมกว่า 1,040,000 บาท ได้ผู้ต้องหา ชาวไทย 2 รายทำหน้าที่ตระเวนถอนเงินที่ได้จากการหลอกลวง

3.การฉ้อโกงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์
การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์
โดยมีรูปแบบการหลอกลวงหลัก ๆ อยู่ 2 เรื่อง ได้แก่
1. การขายสินค้า หรือบริการ แต่ไม่ส่งมอบสินค้า หรือไม่สามารถจัดบริการได้
2. การชักชวนให้นำเงินมาร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ ที่อ้างผลตอบแทนสูง หรือการลงทุนที่มีการแผนการจ่ายผลตอบแทน จากการชักชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุน ในลักษณะการนำเงินของสมาชิกใหม่มาจ่ายสมาชิกเก่า เป็นชั้นๆ เมื่อไม่สามารถหาสมาชิกเพิ่มเติมได้ ก็จะปิดบริษัทหนี ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า แชร์ลูกโซ่

ศปอส.ตร. มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และการกระทำความผิดอาญาที่เป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ ที่กำลังทำลายความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจของประเทศ. จึงได้ร่วมกับ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ ดีบีดี เป็นต้น ดำเนินการสืบสวนปราบปรามมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการหลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่อย่างจริงจัง โดยในรอบปีที่ผ่านมามีการสืบสวนปราบปรามคดีสำคัญๆ จำนวน 10 เครือข่าย ออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 128 ราย จับกุม 120 ราย อยู่ระหว่างติดตามจับกุม 8 ราย โดยยังมีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนปราบปรามอีก 9 เครือข่าย ทำการยึดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดจำนวนกว่า 360 ล้านบาท มีประชาชนตกเป็นเหยือกว่า ๕๐๐๐ ราย ความเสียหายกว่า 3000 ล้านบาท
คดีที่สำคัญน่าสนใจ ได้แก่

1. จับกุมผู้บริหาร บริษัท ไทยอัลฟ่า อันดามัน จำกัด กับพวก รวม 8 ราย ร่วมกันหลอกลวงขายโปรแกรมท่องเที่ยวหมู่เกาะหลีเป๊ะล่วงหน้า. ผ่านเฟสบุ๊ค มีผู้เสียหายกว่า 1,600 ราย มูลค่าความเสียหายกว่าสิบล้านบาท
2. จับกุมผู้บริหาร บริษัท แต้งกิ้ว ฮอลิเดย์ จำกัด หลอกลวงขายโปรแกรมท่องเที่ยวต่างประเทศ มีผู้หลงเชื่อซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวกว่า 130 ราย เมื่อถึงกำหนดเดินทาง ของแต่ล่ะกลุ่ม บริษัทไม่สามารถจัดการท่องเที่ยวตามโปรแกรมได้ และเมื่อผู้เสียหายติดต่อบริษัทก็ได้รับการบ่ายเบี่ยง ได้ มูลค่าความเสียหายกว่าสองล้านบาท
3. จับกุมกลุ่มขบวนการหลอกลวงประชาชนลงทุนเกร็งกำไรราคาทองคำ อ้างขายทองคำราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ในช่วงแรกได้รับทองคำจริง แต่ภายหลังไม่มีการมอบทองให้กับผู้เสียหาย มีผู้หลงเชื่อกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายกว่าสองร้อยล้านบาท

4. จับกุมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ บริษัท เวิร์ด บิท เทรด หลอกลวงประชาชนนำเงินลงทุนกับบริษัท รับผลตอบแทน 300% โดยอ้างว่าจะนำเงินไปทำกำไรจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล มีผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า หนึ่งร้อยล้านบาท
5. จับกุมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ โอดี แคปิตอล กับพวกรวม 58 คน หลอกระดมทุนจากประชาชน อ้างว่าเป็น บริษัท โฮลดิ้ง นำเงินไปร่วมลงทุนในกิจการอื่นๆ ได้แก่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ เครื่องประดับ ทองคำ รถแข่ง กิจการท่องเที่ยว สุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคโทนิค และ ยังมีการหลอกขายหุ้นบริษัท ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แนทแดค ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการรันตีผลตอบแทนจำนวนมาก มีผู้เสียหายหลงเชื่อกว่า
200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่าหนึ่งพันล้านบาท

6. จับกุมขบวนการแชร์ลูกโซ่ บริษัท สยามเรียลกรุ๊ป จำกัด หลอกลวงประชาชนนำเงินร่วมลงทุนกับบริษัท อ้างนำเงินไปลงทุนเกร็งกำไรเงินตราต่างประเทศ. และสินทรัพย์ดิจิตอล มีผู้เสียหายกว่า 2,000 ราย
มูลค่าความเสียหายกว่าสองร้อยล้านบาท
7. จับกุมประธานกรรมการ บริษัท พันปี กรุ๊ป(ไทย ลาว กัมพูชา)จำกัด หลอกลวงเกษตรกร ให้โอนเงินสมัครสมาชิกเพื่อกู้เงิน จากกองทุนสหประชาชาติ(ยูเอ็น) มีผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 300 ราย มูลค่าความเสียหายกว่าสามสิบล้านบาท
8. จับกุม เว็บไซด์สยามออฟชั่น. ที่ชักชวนลงทุนในการเกร็งกำไรค่าเงินต่างประเทศ แต่แท้จริงเมื่อประชาชนโอนเงินไปร่วมลงทุน กลับเป็นการทายพนันค่าเงินตราต่างประเทศ มีผู้เสียหายหลงเชื่อร่วมเป็นสมาชิกกว่า1.4 ล้านราย มีผู้เล่นหมุนเวียนมากกว่า 1 แสนบัญชีในแต่ละเดือน ยอดเงินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน รวมวงเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาทต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 600 ล้านบาท
9. จับกุมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ รองสุทิพย์ กับพวก จากกรณีข้าราชการตำรวจภูธรจังหวัดเลย เข้าร้องเรียนว่า ถูกฉ้อโกงเงินโครงการบริหารหนี้และรวมหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดเลย จนมีการสืบสวนสอบสวน และพบว่ามีการโกงเงินจากข้าราชการตำรวจ เพื่อนำไปลงทุนหุ้นร่วมกับเครือข่าย และมีการชักชวนคนใน จ.หนองบัวลำภู และ จ.ขอนแก่น ร่วมเล่นหุ้น ก่อนเชิดเงินหนี มีผู้เสียหายกว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

4.เงินกู้นอกระบบ
การจัดตั้ง และการดำเนินการของ“ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปราบการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน ตำรวจภูธรภาค 4 (ศปฉช.ภ.4)” นั้น มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การอธิบายแนวทางการดำเนินการทั้งระบบของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตำรวจภูธรภาค ๔ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ ที่มาของการจัดตั้งศูนย์ฯ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการต่างๆ ของศูนย์ฯ แนวทางการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในทางคดี ตลอดจนกระบวนการในการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งนาไปสู่การคืนโฉนดให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยการทาสัญญา ที่ไม่เป็นธรรมและผิดกฎหมาย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 400/2561 ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ โดยมอบหมายให้ พลตำรวจเอก ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ เป็น ผอ. ศปอส.ตร. และ พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการท่องเที่ยว เป็น รอง ผอ.ศปอส.ตร. และหัวหน้าชุดปฏิบัติการ โดยได้ประสานการปฏิบัติกับ พลตำรวจโท สุรชัย ควรเดชะคุปต์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๔ ดำเนินการภายใต้ยุทธการ “ขุดรากถอนโคนอาชญากรรม ทำบ้านเมืองน่าอยู่”
การเยียวยา -มอบคืนโฉนด 3 ครั้ง
-จำนวน 5,530 ฉบับ
รวมเนื้อที่ 18,770 ไร่
3 งาน
96.70 ตร.ว.
-รวมราคาซื้อขาย 7,330,832,323 บาท

5.ความผิดเกี่ยวกับต่างชาติกระทำผิดกฎหมาย Over Stay
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก โดยสถิติปี 2560 มีเข้ามากว่า 35 ล้านคน และยังมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี สร้างรายได้ให้ประเทศ 1.8 ล้านล้านบาท
แต่ก็มีอาชญากรต่างชาติ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศ โดยแฝงเป็นนักท่องเที่ยว แต่มีเจตนาเพื่อหวังก่ออาชญากรรมผิดกฎหมาย เช่น กลุ่มเครือข่ายปลอมธนบัตร (Black Money แบล็คมันนี่) กลุ่มเครือข่ายแสร้งรักออนไลน์ (Romance Scam) กลุ่มเครือข่ายผลิตและปลอมบัตรเครดิต (Skimming สกิมมิ่ง) รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติพักอาศัยอยู่ในประเทศโดยการอนุญาตสิ้นสุดลงหรือเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมาย ส่อเจตนาในการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองและความสงบสุขของประชาชน อีกทั้งกระทบต่อภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

รัฐบาลได้ตระหนักในความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกวดขันจับกุมอาชญากรต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยการนำของ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จึงได้ระดมกวาดล้างอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล, กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง และกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191
รวมถึงหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยมีพื้นที่เป้าหมายการปฏิบัติในกรุงเทพ ปริมณฑลและจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศไทย โดยออกปฏิบัติการ เอ๊าท์ลอว์ ฟอเรนเนอ เอ็กซ์เรย์ ทั้งสิ้น 20 ครั้ง ทั่วประเทศ, ตรวจค้นเป้าหมายกว่า 3,755 เป้าหมาย และจับกุมผู้ต้องหาได้ 1,788 ราย
โดยเน้นการจับกุมในความผิดซึ่งหน้า และสืบสวนขยายผลเป้าหมายให้ได้ความชัดเจนและเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในรูปแบบอื่นๆ โดยประสานข้อมูลกับชุดปฏิบัติการต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด

6.ค้ามนุษย์
ปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลไทยโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญทาง ศปอส.ตร. จึงได้บูรณาการกำลังทุกภาคส่วนร่วมกันปราบปรามจนประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการยกระดับประเทศไทยจาก เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์ หรือประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เป็น เทียร์ 2 ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นตํ่าตามกฎหมายสหรัฐฯ แต่มีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไข โดยมีผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ดังนี้
– จับกุมคดีค้ามนุษย์ จำนวน 30 ราย
– จับกุมคดีความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง จำนวน 48 ราย
– ช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 187 ราย
คดีที่สำคัญที่น่าสนใจ
1. เครือข่ายค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานพม่าไปขายมาเลเซีย
ชุดปฏิบัติการได้จับกุมเครือข่ายหลอกลวงแรงงานพม่าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้ลักลอบนำแรงงานพม่าล่องเรือมาขึ้นฝั่งที่ จว.ระนอง จากนั้นจึงนำไปหลบซ่อนตัวอย่างแออัดบนรถทัวร์จาก จว.ชุมพร ไปยัง จว.สงขลา เพื่อรอการนำพาไปยังประเทศมาเลเซีย โดยต้องแอบซ่อนตัวอยู่ในป่าอยู่อย่างทนทุกข์ระหว่างรอนายทุนโอนเงินค่าหัวแรงงานให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งในพม่าและไทย ผ่านร้านแลกเงินใน อ.สุไหงโก-ลก ที่ผ่านมาจากการออกปฏิบัติการ 7 ครั้ง ใน 5 จังหวัด สามารถช่วยเหลือแรงงานพม่าได้ 134 คน จับกุมกลุ่มผู้ร่วมขบวนการ 13 ราย ขยายผลออกหมายจับ 42 ราย จับกุมแล้วบางส่วน ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามจับกุมกลุ่มนายทุนและผู้เกี่ยวข้องในมาเลเซีย

2. ค้าประเวณีอูกันดา
ได้จับกุมนางสาวแคทเธอรีน บาบัส อายุ 28 ปี สัญชาติอูกันด้า และออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดอีก 5 คน ข้อหา ร่วมกันค้ามนุษย์ โดยเป็นนายหน้าหลอกหญิงสาวชาวอูกันดา 12 คน ให้มาขายบริการในประเทศไทย โดยใช้อุบายหลอกว่าจะพามาทำงานเป็นแม่บ้าน แคชเชียร์ในไทย แต่กลับยึดหนังสือเดินทางแล้วพาไปขายตัวที่ซอยนานา ย่านสุขุมวิท เพื่อชดใช้หนี้ประมาณ 245,000 บาท โดยหญิงสาวอูกันดา จะได้ค่าตัวครั้งละ 1,000บาท ทั้งนี้เมื่อครบกำหนดวีซ่า 60 สันก็จะพาไปขายบริการต่อที่มาเลเซียเพื่อทำวีซ่าเข้าไทยใหม่อีก
3. ปฏิบัติการมะขามหวาน หล่มสัก เพชรบูรณ์
ด้จับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ น.ส.หฤทัย หรือปู ธรรมมิตร อายุ 41 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ พร้อมพวกรวม 3 คน ข้อหา กระทำการค้ามนุษย์โดยแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี ซึ่งเป็นการกระทำต่อบุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี และบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี โดยสามารถช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่อลวงมาบังคับค้าประเวณีได้ 5 คน เป็นชาวไทย 1 คน ชาวลาว 4 คน หลังจากที่ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีให้เข้าตรวจสอบร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งใน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่ผ่านมา น.ส.หฤทัย และพวก ได้ใช้อุบายหลอกว่าจะพามาเป็นแม่บ้าน โดยคิดค่านายหน้าและพาสปอร์ต 15,000 บาท ก่อนนำไปขายบริการทางเพศโดยนัดหมายลูกค้าผ่านทางแอพลิเคชั่น Bee Talk ครั้งละ 1,500-2,000 บาท

4. เครือข่าย “เด็กไม่สนโลก” ค้ากามเด็กชาย
จากปฏิบัติการ “ทลายแก๊งลวงเด็กไม่สนโลก” สามารถจับกุม นายเอ เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เอเยนต์จัดหาเด็กนักเรียนมัธยมต้น ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ และใกล้เคียง ในข้อหา “ค้ามนุษย์โดยแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็ก อายุไม่เกินสิบสามปี / เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไป ซึ่งเด็กไม่เกินสิบห้าปี / และพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเพื่อการอนาจาร”ต่อมาจึงขยายผลหาตัวผู้ใช้บริการทางเพศเด็ก พบว่าได้ใช้เฟซบุ๊คเพจ “เด็กไม่สนโลก” ในการนัดหมายลูกค้า จึงได้เข้าช่วยเหลือกลุ่มเด็กชายอายุไม่เกิน 15 ปี 8 ราย และติดตามจับกุมผู้ซื้อบริการทางเพศ 6 ราย
5. เครือข่ายล่อลวงถ่ายคลิปลับ Mr.Bean Narak
ได้จับกุม นายฐากร หรือติ๊ก หรือแน็ต โสภณพนิชกร อายุ 36 ปี ข้อหา กระทำการค้ามนุษย์โดยการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการผลิต หรือเผยแพร่วัตถุสื่อลามกฯ, ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กฯ และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และขยายผลจับกุม น.ส.สุภาภรณ์ ส่าซี้ อายุ 26 ปี ข้อหา เป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีฯ และนายนิธิ ศรุติขจร อายุ 31 ปี ข้อหา สมคบโดยการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการผลิต หรือเผยแพร่วัตถุสื่อลามกฯที่ผ่านมา นายฐากรฯ ได้ล่อลวงเหยื่อหญิงสาวไปมีเพศสัมพันธ์โดยตั้งกล้องแอบถ่ายคลิป แล้วนำไปจำหน่ายออนไลน์ในกลุ่ม Mr Bean Narak เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง มีหญิงสาวตกเป็นเหยื่อหลายสิบราย

7.พนันม้า
สรุปผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาสืบสวนปราบปราม ทั้งสนามม้าราชกรีฑาสโมสร (ปทุมวัน) และ สนามม้าราชตฤณมัยสมาคม (นางเลิ้ง) จำนวน 43 ครั้ง ดังนี้
– สนามม้าราชกรีฑาสโมสร (ปทุมวัน) ออกปฏิบัติการ 21 ครั้ง จับกุมเจ้ามือ 96 ราย จับกุมผู้เล่น 240 ราย เชิญบุคคลมาทำประวัติ 365 ราย ยอดรายได้ เข้าสนาม 830,426,100 บาท และ ยอดคนเข้าสนาม 52,083 คน
– สนามม้าราชตฤณมัยสมาคม (นางเลิ้ง) ออกปฏิบัติการ 22 ครั้ง จับกุมเจ้ามือ 123 ราย จับกุมผู้เล่น 272 ราย เชิญบุคคลมาทำประวัติ 328 ราย ยอดรายได้ เข้าสนาม 909,737,310 บาท และ ยอดคนเข้าสนาม 64,284 คน
สรุปผลการจับกุมปราบปรามในภาพรวม
จับกุมเจ้ามือ จำนวน 219 ราย
จับกุมผู้เล่น 512 ราย
เชิญบุคคลมาทำประวัติ 933 ราย
ยอดรายได้เข้าสนาม 1,740,163,410 บาท
ยอดคนเข้าสนาม 116,367 คน
คดีที่สำคัญที่น่าสนใจ
ตามนโยบายผู้บังคับบัญชา ในการจับกุมกลุ่มบุคคลที่ลักลอบเล่นการพนันแข่งม้า ทั้ง ภายในสนามแข่ง และกลุ่มที่ใช้ความทันสมัยของเทคโนลียีการสื่อสาร ลักลอบเล่นการพนัน โดยตั้งกลุ่มไลน์ เฉพาะ แอบแทงพนันแข่งม้ากันภายในกลุ่ม ทำ ให้รัฐสูญเสียเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีอย่างมหาศาล เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ ศปพม.ตร. จึงได้สืบสวนขยายผล ทำให้สามารถดำเนินการจับกุม เครือข่ายโต๊ะม้าเถื่อนหรือเปิดรับแทงพนันทางไลน์ 5 เครือข่ายสำคัญ ดังนี้

1.เครือข่ายกลุ่มไลน์ห้องม้าต่างประเทศและเครือข่ายกลุ่มไลน์สังสรรค์ทำนายม้า
เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ ศปพม.ตร. ได้จับกุมตัว นายธงชัย คำแสนโคตร ในข้อหา ลักลอบเล่นการพนันโตแตไลเซเตอร์ (แข่งขันม้า) พนันเอาทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นได้สืบสวนขยายผล ทราบว่ามีการตั้งกลุ่มในแอปพลิเคชั่นไลน์ชื่อว่า “ห้องม้าต่างประเทศ” ให้สมาชิกเล่นการพนันแข่งม้า มีผู้เป็นสมาชิก ๓๖ คน โดยมีนายกิตติศักดิ์ ทรงศิริสวัสดิ์ หรือนายอ้วน เป็นเจ้ามือ จึงได้ออกหมายเรียกสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ๒๖ ราย ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ ก.ค.๒๕๖๑ ได้แจ้งข้อกล่าวหา ลักลอบเล่นการพนันโตแตไลเซเตอร์ ( แข่งขันม้า ) พนันเอาทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาต ๗ ราย จากการจับกุมดังกล่าว ทำให้ทราบว่า ยังมีเครือข่ายกลุ่มไลน์ “สังสรรค์ทำนายม้า” ได้ใช้ช่องทางแอพพิเคชั่นไลน์ ลักลอบเล่น การพนัน โดยมีเงินหมุนเวียนประมาณ ๒,๖๐๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน จึงได้ออกหมายเรียกสมาชิก ๒๖ ราย ต่อมาได้แจ้งข้อกล่าวหา ลักลอบเล่นการพนันโตแตไลเซเตอร์ ( แข่งขันม้า ) พนันเอาทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาต ๑๐ ราย
2.เครือข่ายเจ๊ดาว วัดญวน
เมื่อวันที่ ๕ ส.ค. ๒๕๖๑ ได้จับกุม นางโสภา บุญตามส่ง ในข้อหา ลักลอบเล่นการพนันทายผล การแข่งขันม้า (ม้าสเต็ป) พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเป็นฝ่ายเจ้ามือ รับกิน รับใช้ และจากการสืบสวนขยายผลทราบว่ามีนักเล่นพนันอีก ๕๙ รายที่ลักลอบเล่นการพนันกับกลุ่มผู้ต้องหาฯ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ลักลอบเล่นการพนันโตแตไลเซเตอร์ ( ม้าสเต็ป ) พนันเอาทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก ๕ ราย

3.กลุ่มไลน์เฮียอ้วน
เมื่อวันที่ ๒๕ ส.ค. ๒๕๖๑ ได้จับกุม นายธเนศ สุนทรชาติ ในข้อหา ร่วมกันกับพวกที่หลบหนี ลักลอบ เล่นการพนันโตแตไลเซเอร์ (แข่งขันม้า) พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเป็นฝ่ายเจ้ามือ จากการ สืบสวนทราบว่านายธเนศฯ ได้ลักลอบเล่นพนันฯกับบุคคลอื่น โดยใช้ช่องทางแอพพิเคชั่นไลน์ในการลักลอบ เล่นการพนัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบผู้ที่เกี่ยวข้องอีก ๔ ราย มียอดเล่นการพนันในเครือข่ายประมาณ ๑ ล้านบาท จึงได้ออกหมายเรียกอีก ๔ ราย ต่อมาได้แจ้งข้อกล่าวหา ลักลอบเล่นการพนันโตแตไลเซเตอร์ ( แข่งขันม้า ) พนันเอาทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยแบ่งเป็น เจ้ามือ ๒ ราย ผู้เล่น ๒ ราย
4.กลุ่มไลน์อาทิตย์ยิ้ม
ภายหลังจากได้สืบสวนหากลุ่มบุคคลที่ตั้งกลุ่มไลน์ลักลอบทางพนันม้าแข่งอย่างต่อเนื่อง จนพบว่า กลุ่มไลน์ อาทิตย์ยิ้ม มี นายกิตติเดช ประนมกร เป็นเจ้ามือ มีเงินหมุนเวียนประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน จนเมื่อวันที่ ๑๖ ก.ย. ๒๕๖๑ ได้จับกุม นายกิตติเดช ประนมกรหรือบิ๊ก อายุ ๕๖ ปี ที่บริเวณภายในคอกกักกันสนามม้านางเลิ้ง พร้อมโพยพนันม้าสเต็ป ๔ แผ่น ในข้อหา ร่วมกันลักลอบเล่นการพนันโตแตไลเซ เตอร์ (แข่งขันม้า) พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต
การนำรายได้เข้ารัฐ
โดยจากการปฏิบัติผลงานดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้รวมกว่า 1,700 ล้านบาท นำเงินภาษีเข้ารัฐปี 2560 กว่า 80 ล้านบาท และ ปี 2561 (ตั้งแต่ มกราคม2561 – 16 ก.ย.61) ได้กว่า 60 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2561 จะสามารถสร้างรายได้ภาษีเข้ารัฐบาลได้ถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 20%

8.ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการพนันออนไลน์
สหรัฐอเมริกาจัดให้ประเทศไทยอยู่ในประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ มากว่า 10 ปี เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ ศปอส.ตร. ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้บูรณาการกำลังทั้งจากภาครัฐ ผู้แทนเครื่องหมายการค้า และ จากทางการสหรัฐอเมริกา ทลายแหล่งจำหน่ายและโกดังเก็บสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า 5 แหล่งใหญ่ทั่วประเทศ
สำเพ็ง มีนบุรี เกาะสมุย เชียงใหม่ และพัทยา แหล่งที่รู้กันทั่วไปว่า มีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ เป็นจำนวนมาก ถูกชุดปฏิบัติการดำเนินการ ตรวจค้น จับกุม อย่างเฉียบขาด และนำเอามาตรการยึดทรัพย์สินมาใช้ ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ อีก เพื่อมิให้นายทุนกล้าทีี่จะกลับมาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้อีก
จากปฏิบัติการตรวจค้นกว่า 74 จุด ได้ผู้ต้องหา 37 ราย ยึดของกลางเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ กว่า 47,249 รายการ ข้อมูลการสั่งซื้อ-จัดส่งสินค้า (สลิป) กว่า 6,000 รายการ มูลค่าของกลางกว่า 44.5 ล้านบาท สร้างความพอใจให้กับทางการสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ประเทศไทยถูกลดระดับจากประเทศที่ต้อง “จับตามองพิเศษ”เหลือเพียง เป็นประเทศที่ “ต้องจับตามอง” เท่านั้น

การพนันออนไลน์
ผลการปฏิบัติการกวาดล้างการพนันออนไลน์ มีการบูรณการร่วมกันระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กสทช. และ ปปง. โดยดำเนินการใน 3 ส่วน ดังนี้
1.ส่วนแรก คือ การร้องทุกข์ดำเนินคดี 32 คดี กับผู้เปิดบัญชีเงินฝาก 59 ราย ที่รับโอนเงินการพนันแล้วขยายผลไปยังกลุ่มนายทุน โดยอายัดบัญชีเงินฝาก 122 บัญชี ยอดเงินกว่า 20 ล้านบาท
2.ส่วนที่ 2 ตรวจค้นจับกุมเครือข่ายเว็บพนัน ซึ่งมีที่ทำการในประเทศไทย จัดทำโฆษณาเชิญชวนให้เข้าเล่นการพนัน ในลักษณะ call center บริการลูกค้า จำนวน 8 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 76 ราย อายัดบัญชีเงินฝาก 58 บัญชี ยอดเงินกว่า 176 ล้านบาท ยึดเสาส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตบริเวณชายแดนไทย-พม่าในพื้นที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 32 เสา 184 จาน
3.ส่วนที่ 3 ปิดกั้นเว็บไซด์พนันออนไลน์ 748 เว็บไซด์ เพื่อไม่ให้ประชาชน/ ผู้เล่น เข้าเว็บไซด์การพนันได้ โดยขออำนาจศาลในการระงับการทำให้แพร่หลาย ซึ่งเว็บไซด์ที่จัดให้มีการเล่นการพนันโดยทั้งหมด เป็นเว็บไซด์ภาษาไทย มีเซอร์เวอร์อยู่ต่างประเทศ และยากต่อการจับกุม
– สำหรับปฏิบัติการกวาดล้างการพนันออนไลน์ จะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องต่อไป

9.ความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางสาธารณะ(เด็กแว้น)
ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๒๒/๒๕๕๘ เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางสาธารณะ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ ตร.๖๖๑/๒๕๖๐ จัดตั้งคณะทำงานปราบปรามการแข่งขันรถในทางสาธารณะ โดย ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. เป็น หน.ชุดปฏิบัติการรองรับการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ดังกล่าว มีผลการปฏิบัติตั้งแต่เดือน พ.ย.๕๙ จนถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติการทั้งในพื้นที่ บช.น. ปริมณฑลและในต่างจังหวัด จำนวน ๔๙ ครั้ง มีผลการปฏิบัติดังนี้
– ในพื้นที่ บช.น.๑-๙ ปฏิบัติการทั้งหมด ๓๖ ครั้ง
– ในพื้นที่ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงปฏิบัติการทั้งหมด ๑๓ ครั้ง

โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาแอดมินเพจตามหมายจับที่มีพฤติกรรมโพสต์ชักชวนให้กลุ่มวัยรุ่นออกมารวมตัวแข่งรถในทางสาธารณะ และถ่ายทอดสดลงในเฟสบุ๊คอันเป็นสาเหตุของปัญหาการแข่งขันรถในทางสาธารณะ และพฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนผู้พักอาศัยและผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก โดยคณะทำงานได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาแอดมินดังกล่าวในข้อหา “เป็นผู้สนับสนุนให้มีการแข่งขันรถในทางสาธารณะ” และจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายตามหมายจับทั้งสิ้น ๗๕ หมายจับ และปิดเพจที่โพสเชิญชวนให้กลุ่มวัยรุ่นออกมาแข่งรถในทางทั้งสิ้น ๙๑ เพจ ทำให้ปัญหาการรวมตัวบนท้องถนนจำนวนมากไม่มี

ชุดปฏิบัติการได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ต่างๆ และเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจค้นร้านจำหน่ายท่อไอเสียที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและร้านแต่งรถจักรยานยนต์ที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนแต่งรถซิ่ง สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนซึ่งมีผลการปฏิบัติดังนี้ตรวจค้นร้านท่อเสียทั้งสิ้น ๙๑๕ ร้าน พบร้านที่กระทำความผิดจำหน่ายท่อไอเสียไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ๑๘๗ ร้าน ยึดท่อไอเสียเป็นของกลางไว้ตรวจสอบจำนวน ๑,๐๐๐ รายการ ทำให้ปัญหาการรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่นลดน้อยลง

ชุดปฏิบัติการได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษตรวจวัดระดับเสียงท่อไอเสียที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (๙๕ เดซิเบล) ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากโดยตรวจรถจักรยานยนต์คันใหญ่ (บิ๊กไบค์) จำนวนทั้งหมด ๑๓๓ คัน พบมีท่อไอเสียเสียงดังเกินกว่ามาตรฐานกำหนดจำนวน ๔๗ คัน จึงได้ออกคำสั่งห้ามใช้รถเป็นเวลา ๓๐ วัน ทำให้ปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนลดน้อยลง
ชุดปฏิบัติการได้ตรวจยึดรถจักรยานยนต์และควบคุมตัวเด็กและเยาวชนที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ ๒๒ และ ๔๖/๒๕๕๘ โดยได้ยึดรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยไว้ตรวจสอบจำนวนทั้งสิ้น ๖,๓๕๑ คัน และควบคุมตัวเด็กและเยาวชนเพื่อนำมาตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะได้จำนวนทั้งสิ้น ๓,๕๘๕ ราย

และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และยั่งยืนครบถวนในทุกมิติ คณะทำงานและชุดปฏิบัติการได้นำเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมแข่งขันรถในทางสาธารณะข้างต้นมาเข้าร่วมโครงการ อบรมเยาวชนและผู้ปกครองของเยาวชนรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ในทางสาธารณะ ที่ บก.สปพ. ระยะเวลา ๑ วัน โดยจัดอบรมทั้งหมด ๒๙ ครั้ง จำนวน ๒,๗๕๐ ราย และจัดอบรมโครงการ “สร้างภูมิคุ้มกัน สานฝันเด็กและเยาวชนไทย” จำนวน ๕ รุ่น ระยะเวลาอบรม ๗ วัน จำนวน ๒๒๐ ราย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยศูนย์อำนวยการประสานกำกับติดตามผลการดำเนินการคำสั่ง คสช.ที่ ๒๒/๒๕๕๘ , กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กรมคุมประพฤติ, กรมกิจการสตรีและครอบครัว,บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ เพื่อให้ทราบและรับรู้ถึงนโยบายของรัฐบาล สร้างแรงกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สังคมด้วยพลังสร้างสรรค์และแนวทางป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าไปเกี่ยวของหรือกระทำความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวอีก

คณะทำงานออกปฏิบัติการป้องกันและปรามปรามการแข่งรถในทางสาธารณะตามคำสั่ง คสช. ในพื้นที่ บช.น.และปริมณฑล มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัญหาการแข่งรถในทางฯ ลดน้อยลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ได้รับผลตอบรับที่ดีจากประชาชนเป็นอย่างมาก

10.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (ยาทรามาดอล)
เนื่องด้วยได้มีกลุ่มผู้ปกครองของเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ร้องเรียนต่อ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ผ่านทาง พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. ว่าเยาวชนและบุตรหลานของตนเองและอีกหลายครอบครัวได้มีพฤติกรรมคล้ายคนเสพยาเสพติด มีพฤติกรรม เก็บตัว ซึมเศร้า ไม่ไปโรงเรียน ซึ่งบางคนเคยเป็นเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดี

แต่ก็กลับกลายเป็นไม่สนใจการเรียน และพบว่าสาเหตุดังกล่าวมาจากการเสพ “ยาโปร” ซึ่งยาชนิดนี้จะนิยมในหมู่เยาวชนและวัยรุ่นเป็นอย่างมากและมีการแพร่ระบาดเป็นอย่างมาก แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ในสังคมได้อย่างจริงจัง เมื่อตรวจสอบข้อมูลการก่อเหตุอาชญากรรมของกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ พบว่าเมื่อได้เสพยาโปรอย่างไม่ถูกวิธีแล้วมักจะก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆ เช่น การลักทรัพย์, ชิงทรัพย์ , ปล้นทรัพย์ ตลอดจนเยาวชนได้ใช้จนมีผลทำให้จิตประสาทหลอนอันเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจและบางรายถึงกับเสียชีวิต จากสภาพปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้นทำให้ ศปอส.ตร. เล็งเห็นถึงว่าสภาพปัญหาดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายเป็นจำนวนมาก พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท.จึงให้ทำการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มคนร้ายด้วยตนเอง

ผลการปฏิบัติ
เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมเครือข่ายผู้ผลิตยาทรามาดอลจำนวน …6… ราย และทลายโรงงานผลิตยาทรามาดอลปลอม 1 โรงงาน โกดังเก็บยาและอุปกรณ์ผลิต 1 โกดัง พร้อมด้วยตรวจยึด ยาทรามาดอล 2,900,000 เม็ด และเคมีภัณฑ์อีกประมาณ 2,445 กิโลกรัม และเครื่องจักรอีกจำนวน 30 เครื่อง มูลค่าความเสียหายจำนวน 20 ล้านบาท
จากการเข้าตรวจค้นจับกุมในครั้งนี้เป็นการจับกุม ผู้ค้ารายใหญ่ในกระบวนการผลิตยาทรามาดอลแคปซูลเขียวเหลือ ให้กับเยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิดไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทางชุดจับกุมจะสืบสวนขยายผล เพื่อจับกุมโรงงานผู้ผลิตจนถึงผู้ค้ารายย่อยที่ทำผิดกฎหมาย ต่อไป และเพื่อให้ปัญหานี้หมดไปจากสังคมไทย อยากฝากประชาชนควรระมัดระวังและสังเกตบุตรหลานในการใช้ยาทรามาดอล เพราะเป็นยาที่ใช้ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์ หากใช้เป็นเวลานานหรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดอันตรายได้
หากพบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว กับร้านที่กระทำความผิด รวมไปถึงผู้ที่ลักลอบจำหน่ายยาทรามาดอลทางออนไลน์ สามารถแจ้งเบาะแสกับทาง อย. หรือ ศปอส.ตร. ให้ทราบทันทีเพื่อดำเนินการขจัดปัญหาให้สิ้นไปจากสังคมไทย

11.ความผิดเกี่ยวกับนอมินี
จากกรณีเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก เมื่อได้ตรวจสอบไปยังเจ้าของเรือ กลับพบว่าไม่น่าเชื่อถือว่าจะมีทรัพย์สินมากพอที่จะประกอบการในลักษณะนี้ได้ และยังมีการโอนเงินเข้าออกระหว่างเจ้าของเรือและชาวต่างชาติหลายรายการ เมื่อได้สืบสวนขยายผลต่อ ก็ปรากฏหลักฐานจนน่าเชื่อว่า ธุรกิจดังกล่าว เป็นธุรกิจของชาวต่างชาติที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งต้องห้ามตามกฏหมายไทย แต่มีการหลบเลี่ยง โดยใช้คนไทยเป็นนอมินี
ขณะที่ชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง คอยรับผลประโยชน์มหาศาลอยู่เบื้องหลัง โดยอาศัยทรัพยากรในประเทศไทย แต่ประเทศไทยเอง กลับไม่ได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้พบธุรกิจในลักษณะนี้อีกหลายกรณี เช่น การดำเนินคดีเกี่ยวกับบริษัทนำเที่ยวที่ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และ ที่น่าสนใจก็คือ กรณีของบริษัทต่างชาติอีกรายหนึ่ง ในจังหวัดภูเก็ต ที่มีการประกอบธุรกิจนำเที่ยวแบบครบวงจร โดยมีชาวต่างชาติปลอมบัตรประชาชน เป็นคนไทย เพื่อประกอบธุรกิจนำเที่ยว และเลี่ยงภาษีปีละกว่า 10 ล้านบาท ซึ่ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามมาตรการยึดทรัพย์ กว่า 200 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

12.ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป
อาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อประชาชน
ด้วยได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผ่านทางโซเชียวมีเดีย(Facebook) ของ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง ผกก.สส.บก.น.4 /หัวหน้า ชป.ศปอส.ตร.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานงานร่วมกับ ตำรวจท่องเที่ยว , กก.สส.บก.น.4 ร่วมกันสืบสวนจับกุมตัวคนร้ายที่ตระเวนก่อเหตุทุบกระจกรถยนต์เพื่อลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร

เนื่องจาก ได้มีคนร้าย ตระเวนลักทรัพย์ ของผู้เสียหายจำนวนหลายราย โดยวิธีการทุบกระจกรถยนต์เพื่อให้ได้ทรัยพ์สิน แล้วหลบหนี้ไป ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ก.ค.61 ผู้เสียหายได้แจ้งมายังเพจ(Facebook)พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันสืบสวนจับกุม คนร้ายรายนี้ให้ได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบทราบว่า นายวิเชียรหรือต้อย เย็นยิ่ง อายุ 55 ปี เป็นผู้ลงมือกระทำความผิด จึงรวบรวมพยานหลักฐานได้ขออนุมัติ หมายจับต่อศาลอาญา และศาลได้อนุมัติหมายจับที่1599/2561 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2561 ต่อมา วันที่ 12 ก.ค.61 เจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมตัวได้ พร้อมด้วยของกลางและตรวจยึดสิ่งของ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากการกระทำความผิดที่ นายวิเชียร ฯ นำไปซุกซ่อน อีกเป็นจำนวนมาก กับทั้งนายวิเชียร ฯ ก็เคยก่อเหตุในลักษณะแบบนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างๆ เป็นจำนวนมากและก่อเหตุมาเป็นเวลา หลายปี ทำให้การก่อเหตุโจรทุบกระจกรถยนต์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลดลงเป็นอย่างมาก

อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล
วันที่ 11 ส.ค.60 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบก.สปพ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.นิติธร จินตกานนท์ รองผบก.สปพ. พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รองผบก.ทท. แถลงข่าวรายละเอียดการจับกุมแก๊งมีสีอุ้มนักธุรกิจเรียกค่าไถ่ จากกรณีพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบก.สปพ. พร้อมกำลัง จับกุมแก๊งมีสี อุ้มรีดทรัพย์นายสุรชัย แซ่ย่าง นักธุรกิจเจ้าของบริษัทคันต้า กรุ๊ป ไทยแลนด์ จำกัด และกรรมการสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส สายการบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ที่นำนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวไทย จาก บ.ในซอยนวลจันทร์ นำไปรีดเงิน 20 ล้านบาท แต่เจ้าตัวต่อรองจนเหลือ 2 ล้านบาท ก่อนได้รับการปล่อยตัวหลังญาติโอนเงินให้กับกลุ่มคนร้ายศาลอาญารัชดาฯ อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 10 โดยในแก็งคนร้ายดังกล่าวประกอบด้วย ทหารระดับนายพล ,สารวัตรทหารเรือ และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร พร้อมพลเรือน รวม 10 คน
อาชญากรรมที่ประชาชนให้ความสนใจ

ด้วยเมื่อวันที่ 30 ก.ค.61 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.โชคชัย ได้รับแจ้งว่าพบศพหญิงสาว ที่โรงแรมกรีนพ้อยท์ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ต่อมาทราบชื่อผู้ตาย น.ส.ธิติมา ตั้งวิบูลย์พาณิชย์ หรือเชอรรี่ อายุ 39 ปี โดยลักษณะมีบาดแผลฉกรรจ์ ที่บริเวณศีรษะ ต่อมาสืบทราบว่า ผู้ก่อเหตุคือนายอัศยา หรือโก้ ชัยภาพ แฟนของผู้ตาย แต่ได้หลบหนีไปกบดานที่ประเทศกัมพูชา ต่อมา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายอัศยา ชัยภา หรือ ไอ้โก้ อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาฆ่าน.ส.ธิติมา หรือเชอรี่ ตั้งวิบูลย์พาณิชย์ อายุ 39 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และขนส่งรายใหญ่ หลังหลบหนีข้ามไปยังประเทศกัมพูชา ผ่านชายแดน จ.จันทบุรี นอกจากนี้ยังควบคุมตัวนายอนุวัฒน์ ชัยภา น้องชายของ ไอ้โก้ ที่พาหลบหนีได้ด้วย โดยทั้งคู่หนีไปกบดานซ่อนตัวอยู่บริเวณทะเลสาบชื่อดังโตนเลสาบ ในประเทศกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่พบตัวได้โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 คนไม่ทันได้ตั้งตัวโดยการจับกุมครั้งนี้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทางการกัมพูชา แกะรอยติดตามไล่ล่าไอ้โก้และน้องชายได้ภายในบ้านพักแห่งหนึ่งบริเวณทะเลสาบโตนเลสาบ ก่อนคุมตัวมาสอบสวน จากนั้นได้ส่งตัวให้ตำรวจไทยนำตัวกลับมาดำเนินคดีทันที

อาชญากรรมที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.61 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบช.ทท. พร้อม พ.ต.อ.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบก.ทท.2 พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รอง ผบก.ทท.1 และ พ.ต.อ.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบก.สปพ. ร่วมกันจับกุมคัว นายโมมาเด้ อาซีฟ อับดุล ซาต้า (Momade Assif Abdul SATAR) อายุ 35 ปี ชาว โมซัมบิก ผู้ต้องหารายสำคัญในฐานความผิดครอบครองอาวุธ ฆาตกรรม หนีคดีมากบดานในประเทศไทย โดยจากการประสานความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ติดตาม นายมอมส์เด้ ผู้ต้องหาตามหมายแดงของอินเตอร์โพล ในคดีอุกฉกรรจ์ ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ มีความผิดข้อหาครอบครองอาวุธ ฆาตกรรม และลักพาตัว ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของประเทศโมซัมบิกเป็นอย่างมาก

โดยประเทศโมซัมบิกได้มีการประสานไปยัง FBI ประจำภูมิภาคแอฟริกา ให้ประสานไปยัง FBI ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ช่วยติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหารายนี้ให้ได้ จนกระทั่ง FBI ประจำประเทศไทยได้รับข้อมูลดังกล่าว จึงได้ติดต่อประสานมายังกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางสารสนเทศและการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เกี่ยวกับผู้ต้องหาชื่อ นายโมมาเด้ อาซีฟ อับดุล ซาต้า (Momade Assif Abdul SATAR) โดยมีหมายจับแดงของอินเตอร์โพล หมายเลข A-4476/5-2017 โดยนายโมมาเด้ ฯ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางระบุชื่อ นาย ซาฮิเม่ โมฮัมเหม็ด อาสลาม (MR.Sahime Mohammad Aslam) ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ดำเนินการติดตามตัว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า นายโมมาเด้ ปรากฎตัวอยู่ที่ ล็อบบี้โรงแรมมาริออท ซ.สุขุมวิท 57 แขวงคลิงตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. จึงได้จับกุมตัวส่งเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link