ถอดบทเรียนสินามิอินโดฯ ไทยพร้อมรับมืออย่างไร

ถอดบทเรียนสินามิอินโดฯ ไทยพร้อมรับมืออย่างไร

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศอินโดนิเซีย สำหรับประเทศไทย ควรถอดบทเรียนและป้องกันเหตุเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ประเทศไทยต้องรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไรนั้น

ศ. ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียมีขนาด 7.5 ริกเตอร์ ความลึกอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลเมตร ยังถือว่าเป็นแผ่นดินไหวในระดับตื้น ถ้าระดับลึกต้องเกิน 30 กิโลเมตรขึ้นไป แผ่นดินไหวระดับ 7.5 ริกเกตอร์ ถือว่าแรงแต่ก็ไม่น่าทำให้เกิดสินามิที่สูง 6 เมตรได้ เพราะที่ผ่านมา สึนามิจะเกิดขึ้นต้องเป็นแผ่นดินไหวระดับ 8-9 ริกเตอร์ขึ้นไป แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นที่อินโดนิเซียนี้ เรียกได้ว่า อาจจะอยู่นอกการคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน

เมื่อมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่า ทำไมแผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์ แต่กลับทำให้เกิดสินามิที่มีความสูงในระดับถึง 6 เมตรได้ ปัจจัยแรกคือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น “บนบก” ซึ่งแตกต่างจากสึนามิที่เกิดจากแผนดินไหวที่ผ่านๆ มา ซึ่งมักเกิดขึ้นในทะเลลึก แล้วทำให้เกิดคลื่นกระแสน้ำ เป็นสึนามิพัดเข้ามายังชายฝั่ง ต่อมาคือนอกจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบนบกแล้ว ยังเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลังอีกด้วย

สำหรับปัจจัยที่ทำให้สึนามิครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ นักวิทยาศาสตร์กำลังวิเคราะห์ถึงปัจจัยเพิ่มเติม 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก อาจเกิดแผ่นดินถล่มใต้ทะเลเนื่องจากบริเวณชายฝั่งของเมืองปาลู มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ลาดชันสูง จึงเป็นไปได้ว่า แผ่นดินไหวนี้ทำให้เกิดแผ่นดินถล่มในทะเล ทำให้เกิดมวลน้ำมหาศาลซัดเข้ามายังตัวเมืองปาลู

อีกปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตัวเมืองปาลูเอง ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวลึกเข้าไปเป็นรูปกรวย จากลักษณะดังกล่าวจึงทำให้เกิดการรวมศูนย์พลังงานให้เป็นจุดโฟกัสของคลื่นสึนามิที่วิ่งเข้ามา ทำให้เกิดพลังทำลายล้างที่รุนแรงมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ ยังเป็นเพียงข้อสันนิฐานจากนักวิทยาศาสตร์หลายท่านที่คงต้องรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป

ศ.ดร. อมร พิมานมาศ กล่าวอีกว่า ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ เรื่องการแจ้งเตือนภัย ว่าได้ผลหรือไม่ ต้องบอกว่ากรณีสึนามิที่อินโดนิเซียนี้ ค่อนข้างโชคร้าย เพราะว่าเกิดแผ่นดินไหวในแผ่นดิน แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ได้ถูกทำลายไป เมื่อเกิดสึนามิตามมา แม้ว่าจะมีการแจ้งเตือนภัย แต่ระบบการส่งข้อความ sms ระบบไซเรนที่ติดตั้งตามแนวชายหาด อาจไม่ทำงานตามปกติ เพราะว่า ระบบเหล่านี้ได้ถูกทำลายไปตั้งแต่ตอนเกิดแผ่นดินไหวแล้ว จึงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายซ้ำสองครั้ง คือทั้งแผ่นดินไหวที่รุนแรง และเกิดสึนามิตามมาที่รุนแรงด้วย ความโชคร้ายในจังหวะที่เกิดเหตุการณ์ 2 เหตุกาณ์ซ้อนกันนี้ จึงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย

สำหรับการตรวจจับสึนามิ ปัจจุบันอินโดนิเซีย มีทุ่นตรวจจับสึนามิ 22 ทุน แต่ทว่ามีจำนวนหลายๆ ทุ่นที่อาจจะใช้การไม่ได้ เนื่องจากทุ่นเหล่านี้จะต้องมีการดูแลรักษาและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลที่สูง อย่างไรก็ตาม หากทุ่นตรวจจับเหล่านี้ ยังทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนบก ทุ่นเหล่านี้ซึ่งตรวจจับสึนามิที่เกิดขึ้นในทะเลลึกห่างจากชายฝั่งไปหลายร้อยกิโลเมตร ก็อาจจะจับสัญญาณไม่ได้เต็มที่เช่นกัน ซึ่งนี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัญหาในการตรวจจับสึนามิคราวนี้ ทุ่นที่อยู่ไกลๆ อาจจะตรวจจับแผ่นดินไหวที่อยู่ในระยะไกลๆ ได้ แต่ถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใกล้ชายฝั่งเหมือนในครั้งนี้ ก็อาจจะตรวจจับได้ไม่มีประสิทธิภาพ

สำหรับปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทุ่นเตือนภัยสึนามิ เมื่อติดตั้งห่างไกลในทะเลลึก ก็ย่อมต้องใช้งบประมาณ เนื่องจากทุ่นเหล่านี้ ต้องใช้เทคโนโลยีสูงในการทำงาน เพราะไม่เพียงแค่ตรวจจับระดับน้ำ และแรงดันน้ำเท่านั้น แต่ยังต้องมีเครื่องมือสื่อสารที่ต้องส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมเพื่อนำไปประมวลผลที่ส่วนกลางอีกด้วย ดังนั้นเมื่ออุปกรณ์ต้องอยู่กลางทะเลลึกและใช้เทคโนโลยีสูงในการทำงาน ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายสูงตามมาด้วยอย่างแน่นอน

สำหรับทุ่นตรวจจับของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดสึนามิครั้งใหญ่แล้ว ในปี 2549 ประเทศไทยได้ติดตั้งทุ่นตรวจจับ สึนามิ จำนวน 3 ทุ่นอยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน สำหรับทางฝั่งอ่าวไทยยังไม่น่าห่วงเรื่องสึนามิ เพราะว่าอยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อนที่ไกลมาก ถึง 4-5 พันกิโลเมตร

บริเวณชายฝั่งอันดามันของไทยที่น่าห่วง คือ บริเวณ 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ สตูล พังงาน ระนอง ภูเก็ต ตรัง และหมู่เกาะต่างๆในทะเลอันดามัน เป็นต้น ที่เป็นจุดที่ตั้งอยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อนที่มีพลัง และเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิมาแล้วเมื่อปี 2547

ส่วนโครงสร้างของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งที่มีโอกาสเจอกับคลื่นสึนามิ สำคัญหรือไม่ที่จะต้องออกแบบให้ต้านสึนามินั้น เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่าโดยหลักการแล้วคือ เมื่อคลื่นสึนามิมาแล้วก็ต้องหนีอย่างเดียว เราจะไม่อยู่ในบ้านเพราะว่าไม่ว่าจะออกแบบบ้านให้แข็งแรงอย่างไร ก็ไม่สามารถต้านทานแรงพลังมหาศาลจากธรรมชาติและปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลได้ ดังนั้นวิธีการคือ ต้องหนี หนีให้เร็ว และหนีให้ทัน

ประสบการณ์จากเหตุการณ์สึนามิในอดีต คนเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะว่าคนไม่หนี ไม่ตระหนัก หรือไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก่อนจะเกิดเหตุสึนามิ ธรรมชาติมักจะส่งสันญานแจ้งเตือนให้ทราบ เช่น ระดับน้ำจะลดลงอย่างมาก จนผิดสังเกต บางคนกลับเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติพิเศษ จึงเข้าไปดูโดยที่หารู้ไม่ว่า เดี๋ยวกำลังจะมีคลื่นใหญ่ถาโถมเข้ามา ตรงนี้ต้องให้ความรู้ ระบบเตือนภัยต้องทำงาน และระบบทุ่นที่ต้องวัดระดับน้ำให้ได้

“ต้องเรียนกับประชาชนว่า ประเทศไทยยังมีความโชคดี ตรงที่ว่า แนวที่เกิดแผนดินไหวแล้วทำให้เกิดสึนามิอยู่ห่างไกลออกไปนอกชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามัน นับเป็นพันกิโลเมตร ปัจจัยของเราคือ อยู่ที่ “คน” เพราะว่า ธรรมชาติของไทยไม่ได้โหดร้ายเท่ากับที่อินโดนิเซีย อย่างเมืองปาลูของอินโดนิเซียนี้ ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน และเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ขยับตัวได้ตลอดเวลา จึงได้รับผลกระทบทั้งแผ่นดินไหนและสึนามิซ้ำเติมในห้วงเวลาที่ใกล้กัน” เลขาธิการสภาวิศวกรกล่าว

สำหรับกรณีของประเทศไทย แนวรอยต่อของเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งนับพันกิโลเมตร ดังนั้นแผ่นดินไหวเองจึงไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ระบบอุปกรณ์การสื่อสารต่างๆ จึงควรทำงานได้ตามปกติ ดังนั้นจึงต้องเน้นเรื่องการดูแลระบบการแจ้งเตือนภัยให้ดีพอ เพราะหากระบบแจ้งเตือนภัยของเราล้มเหลว คนจะหนีไม่ทัน และหลังจากแจ้งเตือนภัยแล้ว ต้องมี “แผนที่หลบภัย” เพื่อให้ชาวบ้านรู้ว่าจะต้องหนีหลบภัยไปที่ไหน ตลอดจนระบบไซเรนควรมีตลอดแนวชายฝั่ง ต้องเสียงดังชัดเจน และมีหอกระจายข่าว สิ่งเหล่านี้ต้องทำงานได้ดี เมื่อมีระบบรองรับทุกอย่างดีแล้ว จำเป็นต้องมี “แผนซักซ้อม” ต้องซักซ้อมกันทุกปี

หลักการหนีภัยสึนามิให้รอด คือให้หนีขึ้นที่สูง ที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่ในบางพื้นที่ไม่มีที่สูงให้หนี เช่น ที่เขาหลัก จ. พังงาพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชายหาดพื้นราบเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรจากชายฝั่งจนกว่าจะถึงที่สูงหรือถนนหลวง เช่นนี้ ทางรัฐบาลจำเป็นต้องจัดให้มี “อาคารหลบภัยแนวตั้ง” ให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความแข็งแรง อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้ชาวบ้านเมื่อหนีออกจากบ้านตนเองแล้ว ถ้ามีที่สูงตามธรรมชาติ ก็หนีไปที่สูงธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆ ถ้าไม่มีที่สูงตามธรรมชาติ ก็ให้ไปที่อาคารหลบภัยแนวตั้ง ที่เป็นอาคารหลบภัยที่มีความแข็งแรง

“ทางผมและคณะวิจัย ได้เคยมีการออกแบบอาคารหลบภัยนี้แล้วให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง แบบก่อสร้างอาคารหลบภัยมีพร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างตามแบบที่กำหนด ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดให้อาคารในพื้นที่บางอาคารเป็นอาคารหลบภัย แต่ต้องไปดูว่าเป็นอาคารที่ได้มาตรฐานหรือไม่ เพราะว่าสึนามิที่เกิดขึ้นในไทยจัดเป็นสึนามิระดับปานกลาง คือ ความสูงไม่เกิน 9 เมตร อาคารหลบภัยที่คณะวิจัยได้ออกแบบไว้นี้จะสามารถรองรับสึนามิได้ที่ความสูง 9 เมตร ซึ่งก็น่าจะเพียงพอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กระทบต่อชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย

เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวอีกว่า อยากจะให้มีการก่อสร้างอาคารหลบภัยขึ้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ว่า ถ้าประชาชนเลือกที่จะหลบภัยในอาคารหลบภัยหลังนี้แล้ว จะเกิดความปลอดภัย คณะวิจัยได้ศึกษาแล้วพบว่า อาคารที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กจะมีความปลอดภัย และจะต้องมีเสาเข็มที่ฝังลงในดิน เพื่อไม่ให้อาคารเกิดการขยับตัวได้ง่าย ที่สำคัญคือจะต้องไม่มีการสร้างห้องใต้ดิน เพราะว่า ถ้ามีการสร้างห้องใต้ดิน จะไม่ได้ยินเสียงเตือนจากภายนอก ทั้งเสียงแจ้งเตือนภัยและเสียงไซเรน จึงอาจทำให้หนีไม่ทัน

สิ่งสำคัญที่ทำให้อาคารหลบภัยหลังนี้ สามารถต้านสึนามิได้นั้น คือโครงสร้างของอาคารหลบภัยได้ถูกออกแบบอย่างพิเศษโดยวิศวกร และมีโครงสร้างป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ที่ก่อสร้างจากเสาคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่เรียงรายล้อมอาคาร เพื่อป้องกันเรือ ขอนไม้ ซุง หรือเศษซากปรักหักพังอื่นๆที่จะมาปะทะกับตัวโครงสร้างอาคาร เสาขนาดใหญ่ที่แข็งแรงจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวโครงสร้างอาคารหลบภัยมีความปลอดภัย

ดังนั้นเพื่อตระหนักถึงภัยสึนามิที่ต้องร่วมกันป้องกัน ศ.ดร. อมร บอกว่า โดยส่วนตัวได้แต่งหนังสือชื่อ “ประเทศไทยเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและสึนามิแค่ไหน และจะรับมืออย่างไร” ขึ้นโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) หนังสือเล่มนี้สามารถดาวโหลดได้ฟรี และไม่มีลิขสิทธิ์ ผู้สนใจสามารถนำไปพิมพ์แจกจ่ายเป็นการทั่วไปได้จะยิ่งดี

หนังสือเล่มนี้ ยังให้ข้อมูลที่มีประโยชน์หลายอย่าง เขียนขึ้นมาให้อ่านได้ง่าย ในรูปแบบถามตอบ 76 คำถาม เช่น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้ว ตึกสูงหรือตึกเตี้ย ตึกไหนจะปลอดภัยกว่ากัน อยู่ในรถใต้ดินจะปลอดภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยปลอดภัยจากสึนามิหรือไม่ มีภาพประกอบคำอธิบายให้อ่านเข้าใจได้ง่าย ขอเชิญผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดาวโหลดได้ฟรีในเว็บไซต์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

สำหรับประเทศไทย โอกาสที่จะเผชิญกับการเกิดสึนามิอีกในอนาคต ก็ยังมีความเป็นไปได้ เนื่องจากแนวรอยเลือนของเปลือกโลกในทะเลอันดามัน เป็นแนวที่ยาวต่อเนื่องจากทั้งในมหาสมุทรอินเดียขึ้นไปถึงแผ่นดิน จึงมีโอกาสที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้อีก จากสถิติแม้ว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.3 ริกเตอร์ขึ้นแล้วในปี 2547 ก็ยังมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 8 ริกเตอร์เกิดขึ้นตามมา ดังนั้นในอนาคต ก็คาดว่าจะมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิน 8 ริกเตอร์เกิดขึ้นได้อีก ซึ่งก็อาจทำให้เกิดสึนามิขึ้นได้

“ดังนั้นแนวรอยเลื่อนที่ห่างออกไปจากชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแนวชนกันและมุดตัวระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินโดออสเตรเลีย และ แผ่นเปลือกโลกพม่านั้น ถือว่าเป็นแนวรอยเลื่อนที่มีพลังงานสูงมาก และมีโอกาสที่เกิดแผ่นดินไหวได้ขึ้นได้อีก เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรประมาท แม้ว่าไทยจะโชคดีที่ธรรมชาติไม่รุนแรงเท่ากับอินโดนิเซีย ดังนั้นความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวและสึนามินั้น จึงขึ้นอยู่กับคน และระบบการรับมือของเราว่าจะมีวิธีการแจ้งเตือน จะมีการซักซ้อม และมีการตระหนักถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเพื่อไม่ประมาทจึงควรมีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือต่อเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในอนาคต” เลขาธิการสภาวิศวกรกล่าวท้ายสุด

***********************************

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link