ชป.โชว์ผลงานไทยนิยมยั่งยืน เมืองมะขามหวาน คุ้มค่างบประมาณ

ชป.โชว์ผลงานไทยนิยมยั่งยืน เมืองมะขามหวาน คุ้มค่างบประมาณ

กรมชลประทาน ย้ำใช้งบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืนคุ้มค่า สร้างประโยชน์ทั่วประเทศแล้วร่วม 8 แสนไร่ เกษตรกรรับประโยชน์มากกว่า 1.8 แสนครัวเรือน พร้อมพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ติดตามความก้าวหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน ทั้งการจ้างแรงงานสร้างรายได้ให้ราษฎร ล่าสุดได้สั่งซื้อน้ำยางสด 38 ตัน ซ่อมแซมถนนเลียบคลองชลประทาน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 13,701.985 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 2,074 แห่ง/2,088 รายการ ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 3 กรอบ ได้แก่ 1.คนไทยไม่ทิ้งกัน 2. ชุมชนอยู่ดีมีสุข และ 3. รู้กลไกการบริหารราชการ แบ่งเป็น 3 โครงการ/ 4 เมนู คือ 1. โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร (คนไทยไม่ทิ้งกัน) เมนูจ้างแรงงานสร้างรายได้ 2. โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ (ชุมชนอยู่ดีมีสุข) เมนูการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ 3. โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน(รู้กลไกการบริหารราชการ)มี 2 เมนูคือ เมนูพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเมนูพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทาน เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง

“ผลความก้าวหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่กรมชลประทานได้ดำเนินการแล้ว มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 830,974 ไร่ เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จำนวน 186,367 ครัวเรือน มีการสนับสนุนการใช้ยางพาราแล้วปริมาณ 259.44 ตัน จัดจ้างแรงงานจำนวน 9,169 คน สำหรับด้านการกักเก็บน้ำ เมื่อแล้วเสร็จสามารถเพิ่มความจุกักเก็บน้ำได้ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้กำชับหน่วยงานในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินงานทุกโครงการให้สำเร็จ เพื่อประชาชนและเกษตรกร ได้รับประโยชน์สูงสุดในเวลาอันรวดเร็วและต่อเนื่อง” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ด้านนายเชษฐา ดิษยมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า โครงการชลประทานเพชรบูรณ์ได้รับงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 106.9 ล้านบาท ซึ่งได้กำหนดแผนการใช้งบประมาณประกอบด้วยงานซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบชลประทาน งานก่อสร้างฝาย งานสนับสนุนการใช้ยางพาราเพื่อซ่อมแซมถนนเลียบลำคลองส่งน้ำ และจ้างแรงงาน ขณะนี้งานดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้อย่างรวดเร็ว แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดทันท่วงที

“ยกตัวอย่างงานซ่อมแซมระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำรัตนัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตำบลเขาค้อ ที่เกิดการชำรุดทำให้ส่งน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ ราษฎรร้องขอให้ซ่อมแซมและได้รับเงินจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนไปจัดซื้อวัสดุซ่อมแซมโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อน และราษฎรได้ช่วยลงแรงปรับปรุง / วางท่อระบบส่งน้ำกันเอง ณ ตอนนี้ระบบส่งน้ำใช้งานได้ตามปกติ ราษฎรได้รับประโยชน์เต็มพื้นที่ 300 ไร่เช่นเดิม ตัวอย่างอีกงานคือ การขุดลอกตะกอนดินที่กรมชลประทานจ้างแรงงานผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรในพื้นที่มาช่วยลอกดินในคลอง จากที่ตื้นเขิน ส่งน้ำไม่สะดวก ปัจจุบันน้ำไหลได้สะดวก นอกจากช่วยปรับปรุงสิ่งก่อสร้างแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของระบบชลประทานร่วมกันด้วย” นายเชษฐา กล่าว

นอกจากนี้ งานซ่อมแซมปรับปรุงถนนเลียบคลองชลประทาน ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ได้ดำเนินการ เนื่องจากเกษตรกรต้องใช้เป็นเส้นทางสัญจร เพื่อขนส่งพืชผลทางการเกษตร ซึ่งถนนเลียบคลองชลประทานในจังหวัดเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่เป็นลูกรัง เกิดการชำรุดเสื่อมโทรมจากการใช้งานมายาวนาน เมื่อเกิดโครงการไทยนิยมยั่งยืนขึ้นมา จึงได้รับงบประมาณเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงถนน ด้วยการใช้แบบถนนที่ผสมน้ำยางพารา ในอัตราร้อยละ 20 ช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สั่งซื้อน้ำยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทยโดยตรง เพื่อให้ได้ น้ำยางที่ตรงความต้องการและราคาที่เป็นธรรม สำหรับใช้ในงานซ่อมแซมถนนคันคลองชลประทานในพื้นที่ต่างๆ อาทิ งานซ่อมแซมถนนคันคลองฝั่งซ้าย 2R-LMCอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ต.นางั่ว อ.เมือง ระยะทาง 800 เมตร , งานซ่อมแซมถนนคันคลองฝั่งขวา 1L-RMC ของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ต.สะเดียง อ.เมือง ระยะทาง 1.170 กิโลเมตร , งานซ่อมแซมถนนบริเวณหัวงานอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ต.ห้วยใหญ่ อ.เมือง ระยะทาง 1.25 กิโลเมตร , งานซ่อมแซมถนนบริเวณ หัวงานอ่างเก็บน้ำรัตนัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ ระยะทาง 300 เมตร และงานซ่อมแซมถนนบริเวณหัวงานอ่างเก็บน้ำคลองลำกง ต.วังท่าดี อ.หนองไผ่ ระยะทาง 715 เมตร เป็นต้น รวมงานซ่อมแซมถนนทั้งสิ้น 10 สาย ความยาวรวม 27.93 กิโลเมตร ชาวบ้านได้รับประโยชน์รวม 4,960 ครัวเรือน ใช้น้ำยางพาราไปทั้งสิ้น 51 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

นอกจากนี้ ยังมีงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำชลประทาน ได้แก่ งานซ่อมแซมระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำรัตนัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ พื้นที่รับประโยชน์ 300 ไร่ และงานก่อสร้างฝาย
บ้านหนองผักบุ้ง พร้อมระบบส่งน้ำ ต.นายม อ.เมือง ความยาวสันฝาย 40 เมตร เมื่อแล้วเสร็จ พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1,500 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 80 ครัวเรือน

“ตั้งแต่ทางโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ ได้รับงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นเวลาเพียง 7 เดือน สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในระบบชลประทานได้รวดเร็วกว่าขั้นตอนปกติ ส่งผลไปถึงประชาชนและเกษตรกรที่จะมีน้ำใช้ และได้นำน้ำต้นทุนไปสร้างงานสร้างรายได้ต่อไป” นายเชษฐา กล่าวในที่สุด

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link