ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดตัวหลักสูตร ปวส. และครูพิเศษสอนช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้
เปิดตัวหลักสูตร ปวส. และครูพิเศษสอนช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
เมื่อวานนี้ (31 ตุลาคม 2561) วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ปัตตานี : พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ห้องคลินิกภาษาเพื่อพัฒนาอาชีพ และนิทรรศการนวัตกรรมการศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดภาคใต้ชายแดน ณ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ปัตตานี ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ปัตตานี ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน ซึ่งได้มีการนำครูพิเศษจากภาคอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มาสอนในพื้นที่โดยความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทโกลเด้น โรบอท จำกัด บริษัทพาโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) บริษัท โรบอท ซิลเต็ม จำกัด และ สถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยจะเปิดการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2562 ณ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ปัตตานี ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในจังหวัดภาคใต้ชายแดน ให้มีมาตรฐานและมีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นพื้นที่ “เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเขตนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาล

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักสูตรการซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม นั้น หากในพื้นที่หรือสถานศึกษาใดที่มีความพร้อมและความต้องการในกำลังคน ดังกล่าวก็สามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้ทุกภาค เพราะ สอศ. มีศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันอยู่แล้วทั่วประเทศ และในวันนี้นอกจากการลงนามความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ของบริษัท 5 แห่ง ในการจัดทำหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแล้ว ยังได้มีการติดตามการเชื่อมโยงข้อมูลของศูนย์ประสานงานอาชีวศึกษา ซึ่งก็มีความก้าวหน้าไปมาก และรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นระหว่างภาคอุตสาหกรรม ผู้บริหาร ผู้แทนผู้ปกครอง นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
ในโอกาสนี้ด้วย

สมยศ แสงมณี /ภาพ / ข่าว

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link