สตม.จับกุมมิจฉาชีพหลอกลวงลงทุนแปรสภาพทองคำ

สตม.จับกุมมิจฉาชีพหลอกลวงลงทุนแปรสภาพทองคำ
ด้วยศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้รับร้องเรียนจากประชาชนกว่า ๑๐๐ ราย ว่าตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพ หลอกระดมทุนซื้อทองในรูปแบบทองคำแท่งเพื่อแปรสภาพเป็นทองคำรูปพรรณ โดยได้เงินปันผลเป็นกำไร มูลค่าความเสียหายมากกว่า 200 ล้านบาท เข้าข่ายกระทำความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ฯ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และประสานพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากการสืบสวนทราบว่ามิจฉาชีพกลุ่มนี้มี นางเพ็ญศรี มีพิมพ์ และ นายรักประมวล หลุยจันทึก สามีภรรยา ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย โดยเชิญชวนผู้เสียหายเข้าร่วมหุ้นในบริษัท เคทีพีโกลด์ (KTP GOLD) เป็นการลงทุนแปรสภาพทองคำแท่งเป็นทองคำรูปพรรณ ผ่านการสมัครสมาชิก และสามารถตรวจสอบการลงทุนดังกล่าวผ่านเว็ปไซต์ www.ktpgold.com เมื่อผู้เสียหายสนใจ ผู้ต้องหาจะพาไปดูสถานที่โรงงานผลิตทองคำ มีลักษณะเป็นโรงงานหลอมทอง โดยมีนางเพ็ญศรีฯ และ นายรักประมวลฯ เป็นผู้แนะนำสถานที่ รูปแบบ และวิธีการลงทุนให้ผู้เสียหายฟัง เช่น รูปแบบที่ 1 รับรายได้เป็นรายวัน กล่าวคือ ลงทุน 1 ล้านบาท รับกำไร 25,000 บาท/วัน เป็นจำนวน 60 วัน (60 วัน ได้กำไร 5 แสนบาท), รูปแบบที่ 2 รับกำไรเป็นรายสัปดาห์ กล่าวคือ ลงทุน 1 ล้านบาท รับกำไร 140,000 บาท/สัปดาห์/ครั้ง จะได้รับ 10 ครั้ง , รูปแบบที่ 3 โครงการออมทอง KTP เริ่มออมตั้งแต่ 1 สลึง ถึง 50 บาททอง ระยะเวลาการออมอย่างน้อย 30 วัน ครบกำหนด 30 วัน สามารถเลือกรับทอง หรือเงินสดได้ และจะได้ผลตอบแทน 4 % ภายใน 7 วัน หากชักชวนผู้อื่นมาลงทุนได้ จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก และมีรูปแบบอื่นๆในลักษณะเดียวกันที่ให้ผู้เสียหายได้เลือกลงทุนผ่านเว็ปไซต์ www.ktpgold.com เพื่อประกาศเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุน , ผลตอบแทน , การโอนเงินเข้าบัญชี และเพื่อให้ผู้เสียหายเข้ามาลงทะเบียน ผู้เสียหายลงทุนในช่วงแรก จะได้รับเงินปันผลทั้งหมดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้จริง จึงหลงเชื่อ ลงทุนเพิ่ม ต่อมาผู้ต้องหา ไม่โอนเงินให้กลุ่มผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ผู้เสียหายพยายามติดต่อทวงถามผลกำไรที่ลงทุนก็บ่ายเบี่ยง อ้างว่าถอนเงินในระบบไม่ได้ และไม่คืนเงินลงทุนที่เหลือ ต่อมาไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้ จึงรวมตัวกันมาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี ต่อไป
พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติจับผู้ต้องหาทั้งสอง โดยศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งสอง ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”
ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ติดตามจับกุมตัว นางเพ็ญศรี มีพิมพ์ และ นายรักประมวล หลุยจันทึก โดยผู้ต้องหาทั้งสองรายทราบว่าตนเองมีหมายจับของศาล จึงพยายามหลบหนี แต่เจ้าหน้าที่ฯ สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองได้ที่บริเวณเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง” ระวางโทษ “จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 83
ความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ระวางโทษ “จำคุก 5 – 10 ปี ปรับ 5 แสน – 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่” ตาม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 , 5 , 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ขอบคุณข้อมูลข่าวสาร ที่มา พ.ต.ต.หญิงพัชรี ศรีเผือก สว.ฝอ.5 บก.อก.สตม.

ทีมข่าวเรื่องจริงผานเลนส์รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link