ตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนในหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กว่า…

วันที่ 13 พ.ย. 2561 ตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนในหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กว่า…..คน นำโดยมหาวิทยาลัยบูรพา เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยกเลิกการกำหนดข้อ 13 (4) ในร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. …..
โดยข้อร้องเรียนระบุว่า กฎหมายที่จะให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ โดยการอบรมนั้น มีความพยายามมาตั้งแต่ปี 2554 จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด คำถามตามมาว่า เหมาะแล้วหรือไม่ กับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น จป.วิชาชีพ ในข้อที่ 13 (4) ที่ระบุว่า “สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการ ตามข้อ 2 (1) (2) หรือ (3) ไม่น้อยกว่าห้าปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยใน การทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการประเมิน” ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยืดเยื้อมายาวนาน จนเข้าสู่ ปี พ.ศ.2561 จึงกลับมาใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตบัณฑิตด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือเทียบเท่าพยายามคัดค้านกฎหมายนี้มาตลอด แต่ทว่ากลับมีกระแสกลับมาอีกครั้ง และยังไร้ข้อสรุปที่ชัดเจน
สำหรับการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา การประชุมร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง และมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับกรณีการทบทวนการออกกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. …โดยประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันกว้างขวางเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ซึ่งตามร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ข้อ 13 (4) บัญญัติว่าต้อง “สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและมี ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามข้อ 2 (1) (2) หรือ (3) ไม่น้อยกว่า 5 ปี”

นั่นหมายความว่า เปิดโอกาสให้ผู้จบสาขาใดก็ได้ สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ขอเพียงมีประสบการณ์ทำงานอะไรก็ได้ 5 ปี และสามารถเข้ารับการอบรม 222 ชั่วโมง หรือ 1 เดือน 7 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลน จป.วิชาชีพ จึงทำให้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตรอาชีวอนามัยฯ ออกมาคัดค้าน เพราะหวั่นว่า จะไม่ได้มาตรฐาน!
ข้อคิดเห็นของสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อ้างข้อมูล จาก กสร. เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 ได้แสดงจำนวนสถานประกอบการทุกประเภทกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมี จป.วิชาชีพ มีทั้งสิ้น 15,357 แห่ง แสดงว่า อย่างน้อยความต้องการมี จป.วิชาชีพ คือ 15,357 คน
ในขณะที่ข้อมูลที่รวบรวมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ได้มีบัณฑิตทางด้านนี้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 26 แห่ง โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 มีบัณฑิตด้านอาชีวอนามัยฯ ทั้งสิ้น 20,577 คน และเมื่อทำการประมาณการความสามารถในการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัย 28 แห่ง (รวม 2 แห่ง ที่จะมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษา) ในระหว่างปี 2561-2564 (5 ปี) พบว่า จะสามารถผลิตบัณฑิตได้ 10,834 คน หรือคิดเป็นความสามารถในการผลิตบัณฑิตได้ปีละ 2,167 คน ทั้งนี้ หากรวมมหาวิทยาลัยอีก 14 แห่ง จากที่เปิดสอน ทั้งหมดรวม 42 แห่ง เปิดสอนจบจนมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาออกมา จะมีบัณฑิตด้านนี้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ สภาคณบดีฯ จึงเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตอาชีวอนามัยฯ ได้มากกว่าความต้องการที่กฎหมายกำหนด

ส่วนผลกระทบหากยังมีข้อ 13 (4) แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยกังวลเรื่องมาตรฐานต่ำของการคุ้มครอง ความปลอดภัยของคนทำงานและลูกจ้าง พร้อมยกตัวอย่างเพื่อเป็นการตั้งคำถาม เช่น คนที่จบนิติศาสตร์ เป็นนิติกรมา 5 ปี เมื่อมาอบรมหลักสูตร จป.วิชาชีพ 1 เดือน 7 วัน จะทำการประเมิน ควบคุม และจัดการความเสี่ยงภัยจากสารเคมีระเบิดได้หรือไม่ หรือคนบริหารธุรกิจ ทำหน้าที่ฝ่ายขายมา 5 ปี เมื่อมาอบรมหลักสูตร จป. ระดับวิชาชีพ 1 เดือน 7 วัน จะประเมินการสัมผัสสารเคมีและควบคุมระดับการสัมผัสได้หรือไม่ ที่สำคัญมากไปกว่านั้น หากเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ จะทำให้บัณฑิตที่จบมาจากสาขาตรงปีละ 3,000 คน จาก 42 สถาบัน ต้องตกงาน เนื่องจากนายจ้างจะเลือกคนของตนเองไปอบรมแล้วมาเป็น จป. วิชาชีพ
นิสิตนักศึกษาสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงขอเสนอแนะให้กระทรวงแรงงานต้องรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ด้วยการคงไว้ซึ่งผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพ ต้องสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี ทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ส่วน กสร.ต้องศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงที่สถาน ประกอบการไม่สามารถว่าจ้างผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพได้ และสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ฯ และ มหาวิทยาลัยต่างๆ ยินดีที่จะร่วมมือกับ กสร. ในการทำโครงการความร่วมมือการผลิตบัณฑิตทางด้านนี้ให้กับสถานประกอบการที่มีปัญหาไม่สามารถหาผู้ที่จะมาเป็นจป.วิชาชีพ และเห็นว่า สถานประกอบการยังมีทางเลือกที่สามารถส่งลูกจ้างเข้าศึกษาต่อวิชาเอกด้านนี้ผ่านระบบการศึกษาทางไกลของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้
จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้ความกรุณาสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเร่งรัดให้มีการยกเลิกข้อ 13 (4) ของร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวโดยเร็ว .

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link