เยือนอารยธรรมอีสานใต้ ดินแดนหลากวัฒนธรรม-เลิศล้ำโบราณคดี 0TOP Village นครราชสีมา-บุรีรัมย์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี ไปแล้วจะรัก

ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) 8 เส้นทาง ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง โดยใช้วัฒนธรรมประเพณีตลอดจนทรัพยากรของท้องถิ่น คงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ภายใต้การบูรณาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและเกิดการรวมพลังในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรของชุมชนให้เกิดมูลค่าและสร้างรายได้แก่ชุมชนรวม 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน

เมื่อวันที่ 12-14 พ.ย.2561 อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้ นายไพบูลย์ บูรณสันติ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นำสื่อเข้าร่วมในกิจกรรมสื่อมวลชนเยี่ยมชมหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (Press Tour) ในเส้นทางที่ 3 : อารยธรรมอีสานใต้ นครราชสีมา-บุรีรัมย์–ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี

วันที่ 12 พ.ย.2561 เริ่มต้นที่ จ.นครราชสีมา เยี่ยมชมหมู่บ้านด่านชัย ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย โดยหมู่บ้านด่านชัย เป็นหมู่บ้านในตำบลด่านเกวียนมีชื่อเสียงด้านเครื่องปั้นดินเผา ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับงานประเภทเครื่องปั้นดินเผาทั้งสิ้น เช่น ขายดินสำหรับผลิตเครื่องปั้นดินเผา รับเผาเครื่องปั้น รับนวดดิน ไปจนถึงรับผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่มีทั้งงานประเภทขึ้นรูปด้วยมือ และงานออกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ ถือเป็นแหล่งชุมชนที่ขับเคลื่อนเรื่องของเครื่องปั้นดินเผาในตำบลด่านเกวียน ให้มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพ รวมถึงรักษาเอกลักษณ์ของบ้านด่านเกวียนไว้อย่างดี มีชื่อเสียงไปไกลถึงต่างแดน มีลักษณะเด่นคือ ดินสีแดง ทนทาน ไม่แตกหักง่าย ทำให้เครื่องปั้นดินเผา ได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ต้นแบบ ทำให้นักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมชม และซื้อหาเป็นของที่ระลึก อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านที่พัก ร้านอาหารตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย ทำกิจกรรมปั้นเครื่องปั้นดินเผา พร้อมชมเตาเผาเอกลักษณ์ท้องถิ่น, สักการะวัดด่านเกวียน (รูปหล่อดินเผา) ชมโอ่ง 4 เมตรและชมวิวสะพานข้ามแม่น้ำมูล

หลังจากนั้นไปต่อยังหมู่บ้านธารปราสาทและหมู่บ้านปราสาทใต้ ต.ธารประสาท โดยบ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000 ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชมทั้งหมด 3 แห่ง พร้อมชมสาธิตการทำผลิตภัณฑ์การทักทอจากต้นกก ชมพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท และหลุมที่ขุดค้นพบซากกระดูกคนโบราณ อ.โนนสูง

วันที่ 13 พ.ย.2561 ที่ จ.บุรีรัมย์ เยี่ยมชมหมู่บ้านหมู่บ้านโคกเมือง บ.โคกเมือง ต.จรเข้มาก อ.ประโคนชัย โดยหมู่บ้านโคกเมือง อยู่ติดกับปราสาทเมืองต่ำ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของบุรีรัมย์ ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ปี2555-2557 วิถีชีวิตชาวบ้าน มีกลุ่มอาชีพหลากหลาย เช่น กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มถักไหมพรม เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 80 ของหมู่บ้าน OVC (Otop Village Champion) ในปี 2549 ประเภทหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของปราสาทเมืองต่ำและมีการพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นให้เป็นสินค้าของฝากระดับประเทศ คือ ผ้าทอ หรือที่เรียกว่า ผ้าไหมลายผักกูดหัตถกรรมชั้นดี ที่ชาวบ้านนิยมทำกันมาตั้งแต่โบราณจากรุ่น สู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เสื่อกกยกลายปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย แล้วชมปราสาทหินเมืองต่ำ ร่วมกิจกรรมที่ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย การทอเสื้อกก การทอผ้าไหม การทำผ้าย้อมโคลน 100 ปีและชมสัมมาชีพภูเขาไฟ

หลังจากนั้นไปต่อยัง หมู่บ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ โดยหมู่บ้านเจริญสุข ได้รับเลือกให้เป็น “หมู่บ้าน OVC” (OTOP Village Champion) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถสรรค์สร้างสิ่งที่สวยงามได้อย่างมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “ผ้าภูอัคนี” หรือผ้าย้อมดินภูเขาไฟ วัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่หาได้ในท้องถิ่น มาประยุกต์ เป็นกรรมวิธีในการย้อมสีผ้าให้ออกมามีสีสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ เพราะหมู่บ้านเจริญสุขตั้งอยู่ใกล้กับ “เขาพระอังคาร” ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับ แล้ว 1 ใน 6 ลูกของจังหวัดบุรีรัมย์ ดินบริเวณนี้จึงอุดม ด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ ในการเพาะปลูกแล้ว ชาวบ้านเจริญสุขยังคิดค้นวิธีการนำดินเหล่านี้มาใช้ย้อมผ้าฝ้ายสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดินน้ำตาลอ่อนกับน้ำตาลแดง แบบดินภูเขาไฟ กำเนิดเป็น “ผ้าภูอัคนี” ยังใช้ภูมิปัญญาที่จะรักษาสีผ้าให้คงทนด้วยการนำผ้าที่ได้จากการย้อมดินภูเขาไฟไปต้มกับ “น้ำเปลือกต้นประดู่” ซึ่งมียางและสีที่คล้ายกับสีดินภูเขาไฟ จึงเป็นการเคลือบสีไปในในตัว ผ้าที่ได้จึงเงางามยิ่งขึ้นและไม่ตกสีอีกด้วย ท่องเที่ยวเขาพระอังคาร, โบสถ์วัฒนธรรมเดิมชมการทอผ้าภูอัคนี และช้อปที่ตลาดสินค้าจากการสนับสนุนของกรมพัฒนาชุมชน

และไปที่หมู่บ้านไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เยี่ยมชมหมู่บ้านไพรพัฒนา ชมสาธิตการทอผ้าไหมและสินค้าของชุมชน นั่งรถซาฟารีไปจุดชมวิวพญากรูปรี สักการะวัดไพรพัฒนา และชมการแสดงต้อนรับ

ปิดท้าย วันสุดท้ายที่ หมู่บ้านละทาย โดยเยี่ยมชมหมู่บ้านละทาย อ.กันทรารมย์ หมู่บ้านละทาย มีอัตลักษณ์และภูมิปัญญาพื้นถิ่น ทั้งด้านอารยธรรมอีสานใต้ วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมของคนในชุมชน มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่วัดพุทธละทายชัยมงคล จัดประเพณีบุญบั้งไฟ บุญก่อประทายในเดือนพฤษภาคมของทุกปี นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเผ่าลาวตำบลละทาย วัฒนธรรมการแต่งกาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การละเล่นและอาหารของชนเผ่า ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านละทาย มีโฮมสเตย์เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสวนครูเลอไทย ศูนย์สาธิตพลังงานทดแทนโซลาเซล บ้านละทาย

ปิดท้าย เยี่ยมชมหมู่บ้านสมพรรัตน์ อ.บุญฑริก จ.อุบลราชธานี ถิ่นภูมิปัญญาการทอผ้าไหมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องผ้าไหมแบบครบวงจร จากเดิมที่เป็นการทอเพื่อใช้เองในบ้าน

ดังนั้นเส้นทางอารยธรรมอีสานใต้ นครราชสีมา-บุรีรัมย์–ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี จึงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์หลากหลายด้านวัฒนธรรม ประเพณี แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนอัตลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่น เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสัมผัส..เชคอิน แชะ ชม ชิม ช้อป แชร์.. OTOP Village..หมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวไปแล้วจะรัก

สมยศ แสงมณี มยุรี ริดมัด /ภาพ / ข่าว

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link