มรภ.สงขลา ฝึก นศ.เกษตรปลูกถั่วแระญี่ปุ่น

มรภ.สงขลา ฝึก นศ.เกษตรปลูกถั่วแระญี่ปุ่น

คณะเทคโนโลยีเกษตร มรภ.สงขลา สอนนักศึกษาปลูกถั่วแระญี่ปุ่น เผยเป็นพืชส่งออกที่น่าจับตา ปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี แถมมีความสามารถตรึงไนโตรเจน ช่วยเกษตรกรลดใช้สารเคมีได้อย่างดี

อ.ธัชวีร์ ขวัญแก้ว โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ในฐานะอาจารย์ประจำสถานีปฏิบัติการพืชไร่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ในการเรียนวิชาพืชไร่เศรษฐกิจ นักศึกษาของทางคณะฯ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ หนึ่งในนั้นคือถั่วแระญี่ปุ่นหรือที่บางคนเรียกว่า “ถั่วเหลืองผักสด” โดยทางคณะฯ นำสายพันธุ์ KPS 292 มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เหตุที่เรียกว่าถั่วแระญี่ปุ่น เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว แม้ญี่ปุ่นจะปลูกอยู่แล้วแต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ถั่วแระญี่ปุ่นจึงถือเป็นพืชที่น่าสนใจ หากเกษตรกรหรือประชาชนรายใดสนใจสามารถเข้ามาศึกษาดูงานและขอคำแนะนำจากแหล่งเรียนรู้ของคณะเทคโนโลยีการเกษตรได้ ในส่วนของนักศึกษาต้องดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่แรก เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง

อ.ธัชวีร์ ยังกล่าวว่า ถั่วแระญี่ปุ่นมีรสชาติหวานอร่อย เนื้อละเอียด ที่สำคัญ ปลูกง่ายมากแทบไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเลย และสามารถปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ที่มีฝนตกหนัก ชอบดินร่วน ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 70 วัน เป็นพืชที่มีการปลูกมานานแล้วโดยเฉพาะในภูมิภาคอื่นๆ แต่ในภาคใต้เริ่มนิยมเมื่อไม่นานมานี้ สำหรับระยะปลูก 30×20เซนติเมตร 30 คือ ระยะระหว่างแถว ส่วน 20 คือ ระยะระหว่างต้น อัตราปลูก 3 เมล็ดต่อหลุม และมีโอกาสงอกสูงถึง 80-90% ขึ้นอยู่คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ด้วย ผลผลิตในการเก็บเกี่ยวแต่ละ 1 ไร่อยู่ที่ปริมาณ 750-800กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนราคาต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 40-60 บาท (ราคาฝักสดมาตรฐาน) นอกจากนั้น เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในรอบต่อไปได้ โดยคุณภาพยังดีเช่นเดิม ลักษณะทางพันธุกรรมไม่เปลี่ยนแปลง

อาจารย์ประจำสถานีปฏิบัติการพืชไร่ ยังกล่าวต่ออีกว่า พืชตระกูลถั่วมีข้อดีคือมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนเอาไว้ได้ จึงช่วยลดการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีได้เป็นอย่างดี ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม อยากให้เกษตรกรเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด สำหรับพืชตระกูลถั่วควรหลีกเลี่ยงปุ๋ยเดี่ยวไนโตรเจน เช่น สูตร 46-0-0 (ยูเรีย) หรือ 21-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต) เนื่องจากเป็นการเพิ่มปริมาณไนโตรเจนโดยไม่จำเป็น แต่ควรเลือกใช้สูตร 15-15-15 หรือ 18-24-24 เพราะมีอัตราส่วนปริมาณฟอสฟอรัสและโพเเทสเซียมสูงพอเหมาะ ซึ่งพืชตระกูลถั่วไม่สามารถสร้างเองได้และจำเป็นต้องได้รับจากดิน

ทางด้าน น.ส.ศุภนิดา จันทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาเกษตรศาสตร์ และ น.ส.จินตนาภา ดำกลึง โปรแกรมเทคโนโลยีเกษตร แขนงวิชาการผลิตพืช กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกเรียนทางด้านเกษตรก็เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาและต่อยอดให้กับตนเองและชุมชน ถือเป็นความท้าทายที่หากเรียนด้านอื่นอาจไม่ได้ทำในลักษณะนี้ เริ่มตั้งแต่ขุดดิน เตรียมแปลง ไปจนถึงออกจำหน่ายผลิตผล ตนและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการ คิดว่าตัดสินใจถูกแล้วที่เรียนเกษตรซึ่งเป็นศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้จริง โดยที่ผ่านมาคนในชุมชนเคยมาขอความรู้เรื่องการเตรียมดิน ปลูกพืช ตนจึงอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาเรียนเกษตรกันให้มากขึ้น เพราะการเรียนในศาสตร์แขนงนี้เมื่อจบออกไปแล้วไม่ใช่แค่ปลูกผัก เลี้ยงปลา แต่จริงๆ แล้วความรู้กว้างกว่านั้นมาก เช่น เป็นนักวิชาการในโครงการหลวง เป็นต้น ซึ่งตนเคยไปฝึกงานที่นั่นและอยากกลับไปอีก

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link