ทัพเรือ จัดตั้ง “หมู่เรือเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล” พร้อมรับ “ปาบึก”

ทัพเรือ จัดตั้ง “หมู่เรือเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล” พร้อมรับ “ปาบึก”

โดยมี เรือหลวงอ่างทอง และเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ฮ. 2 ลำ ชุดปฏิบัติการพิเศษ 28 นาย และชุดแพทย์สนาม ซ้อมพร้อมออกปฏิบัติหน้าที่

โดยมี พลเรือตรี ชวิน เวียงวิเศษ เป็น ผู้บังคับหมู่เรือเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล (ผบ.มรภ.ทร.) เพื่อเตรียมความพร้อมของเรือ กำลังพล ยุทโธปกรณ์ และทีมแพทย์ สำหรับการออกไปช่วยเหลือประชาชนกรณีหากเกิดภัยพิบัติ เกิดผลกระทบจากวาตภัย และอุทกภัย ในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เตือนภัยพายุ “ปาบึก” (PABUK)

ซึ่งเป็นพายุโซนร้อนบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็ว 6 นอต คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านปลายแหลมญวน เข้าสู่อ่าวไทย ในช่วงวันที่ 3 – 4 ม.ค.62 และขึ้นฝั่งระหว่าง จ.สุราษฎร์ธานี กับ จว.นครศรีธรรมราช ในช่วงวันที่ 4 – 5 ม.ค.62 ก่อนที่จะเคลื่อนตัวลงสู่ ทะเลอันดามันต่อไป

ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง

เรือหลวงอ่างทอง ซึ่งจะเป็นเรือหลักในการให้ความช่วยเหลือในทะเลและบนฝั่งที่ได้รับผลกระทบ จัดเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ประเภท LPD (Landing Platform Dock) เป็นเรือในชั้น Endurance Class เข้าประจำการที่กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2555 มีกำลังพลประจำเรือ จำนวน 151 นาย มีระวางขับน้ำปกติ 7,600 ตัน มีความยาว 141 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 4.6 เมตร มีความสูงถึง 9 ชั้น ถ้าเทียบขนาดของ เรือหลวงอ่างทอง ถือว่ามีความใหญ่เป็นอันดับสามรองจาก เรือหลวงสิมิลัน และ เรือหลวงจักรีนฤเบศร สามารถทำความเร็วสูงสุดมากกว่า 17 น๊อต และมีระยะปฏิบัติการ มากกว่า 5,000 ไมล์ทะเล ที่ความเร็ว 12 น๊อต สามารถปฏิบัติการในทะเลต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 45 วัน และถูกออกแบบมาให้มีความคงทนทะเลในระดับ Sea State 6 (มีตั้งแต่ Sea State 0-9) ซึ่งสามารถทนระดับความสูงของคลื่นได้ประมาณ 4-6 เมตร

นอกจากเรือหลวงอ่างทองที่มีภารกิจหลัก ในการสนับสนุนการยกพลขึ้นบกให้กับกำลังนาวิกโยธินในการเคลื่อนกำลังพลจากทะเลสู่ฝั่ง ในการโจมตีโฉบฉวย สะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงทางทะเล รวมไปถึงการลำเลียงขนส่งทางอากาศด้วยอากาศยาน อีกทั้งยังเป็นเรือบัญชาการฐานปฏิบัติการในทะเล

รวมถึงภารกิจการสนับสนุนการฝึกต่าง ๆ รวมทั้งการลำเลียงระยะไกล สำหรับภารกิจในยามปกติ ก็สามารถใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การส่งอาหารและยาเวชภัณฑ์ทางอากาศ

รวมถึงการช่วยเหลืออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ภัยพิบัติจากฝั่งเข้ามาสู่อู่ลอยของเรือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลที่กำลังเกิดคลื่นลมแรง

ในการเป็นทั้งฐานลอยน้ำและฐานบินเคลื่อนที่สำหรับรับ-ส่ง ผู้ประสบภัยกลางทะเล และ เป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่สำหรับการปฐมพยาบาล และใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลข่าวสาร ที่มา_Wassana Nanuam

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link