พลทหารจับสุนัขทารุณสัตว์หรือไม่???

พลทหารจับสุนัขทารุณสัตว์หรือไม่
โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล
เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)
ตามที่มีข่าวปรากฏเกี่ยวกับพลทหารได้จับสุนัขจำนวน 2 ตัว ไปมัดและให้นอนตากแดด จนเป็นที่น่าสะเทือนใจแก่ผู้รักสัตว์เป็นอย่างยิ่ง จนภายหลังจะมีการออกมาตอบโต้กันถึงข้อเท็จจริง (ซึ่งยังไม่ยุติ) ไม่ว่าผู้ที่กล่าวหา ปศุสัตว์ในพื้นที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ให้ความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าได้มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม คือมีการลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว เรื่องดังกล่าวจึงมีแง่มุมที่น่าสนใจ คือ

1.พลทหารมีลักษณะของการกระทำ คือ คิด ตกลงใจ ตระเตรียม และได้มีการกระทำลงไป เพื่อให้สุนัขทั้งสองนั้นได้รับความทุกข์ทรมาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 3 ที่นิยามว่า การทารุณกรรมสัตว์ หมายถึง “การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางด้านร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ” หรือไม่อย่างไร

2.การกระทำของพลทหารนั้นครบองค์ประกอบภายในของการกระทำความผิด คือเป็นการกระทำด้วย “เจตนา” ที่ต้องการจับสุนัขไปมัดเพื่อไปตากแดด รอการไปปล่อยขั้นตอนดังกล่าวทำให้เกิดความทุกข์ทรมานโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ หรือเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวังซึ่ง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจจะใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาใช้ได้เพียงพอไม่ ก็ต้องพิจารณามูลเหตุจูงใจ
3.ผลการกระทำที่พลทหารกระทำนั้นสัมพันธ์กับการกระทำความผิดในการทารุณสุนัขหรือไม่ คือถ้าไม่มีการกระทำผลจะไม่เกิด คือถ้าไม่มีการจับสุนัข สุนัขก็จะไม่ได้รับการทารุณจนทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางด้านร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สุนัขนั้นตายได้ เรื่องดังกล่าวก็ต้องฟังผลจากพิสูจน์จากหลายฝ่าย เช่น สัตวแพทย์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือใช้ผลทางนิติวิทยาศาสตร์มายืนยันถึงสภาพของสุนัขทั้งสองตัวว่าได้รับอันตรายหรือไม่อย่างไร

4.ความชั่ว เป็นเรื่องของ “ความรู้ผิดชอบ” คือพลทหารมีสติครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่ เช่น กระทำได้เองไม่ได้เกิดจากการที่ควบคุมตนเองไม่ได้
5.มีเหตุแห่งการยกเว้นอื่น ๆ ที่ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เช่น พลทหารได้กระทำไปและได้รับการยกเว้น มาตรา 21 มีการกระทำ ที่ถือว่าไม่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ 11 ข้อ เช่น (1) การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร (3) การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (6) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน เป็นต้น
ดังนั้น พลทหารจับสุนัขแล้วให้นอนตากแดด และนำไปปล่อยนั้น ก็ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าได้ดำเนินการไปเพื่ออะไร มีเหตุสมควรหรือไม่ หรือกระทำไปด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือต้องทำตามนายสั่ง ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดเป็นการทารุณกรรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรจริง ผู้สั่งการที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดไม่ได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เรื่องของกฎหมายจึงเป็นเรื่องของหลักการ ที่ผู้ใช้จะต้องใช้ในการอำนวยความยุติธรรม ให้เกิดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะใช้ความรู้สึกและอารมณ์มาตัดสินไม่ได้ แต่มนุษย์ก็ควรมีความเมตตาต่อสัตว์ เพราะ “สัตว์” แม้จะพูดเองไม่ได้ เรียกร้องสิทธิให้ตัวเองไม่ได้เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ก็มีชีวิต จิตใจ มีความรู้สึก รับรู้ได้ถึงความทุกข์ทรมานเจ็บปวด จากการกระทำของมนุษย์ มนุษย์จึงควรปฏิบัติต่อสัตว์ อย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น

ผ่านเลนส์ 005-รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link