รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุม VCS หารือผู้ว่าฯ 6 จังหวัด เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุม VCS หารือผู้ว่าฯ 6 จังหวัด เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5

วันนี้ (30 ม.ค.62) เวลา 13:15 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวว่า ในขณะนี้ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ได้เริ่มมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลทั้ง 6 จังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยในฐานะส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนในพื้นที่ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากแหล่งกำเนิด เช่น การตรวจสอบระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะโดยใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรและการขนส่ง การเข้มงวดกวดขันและตรวจสอบการปล่อยควันของโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการอุตสาหกรรม และการป้องกันฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เป็นต้น และในกรณีประสบปัญหาวิกฤตสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทันที
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานขั้นตอนการปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แบ่งเป็น 4 ระดับ ตามความรุนแรงของสถานการณ์ คือ ระดับที่ 1 หากมีค่าฝุ่นน้อยกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ทุกหน่วยราชการจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่มีอยู่ในสภาวะปกติ เพื่อให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลสะอาดและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ระดับที่ 2 ค่าฝุ่นระหว่าง 50 – 75 มคก./ลบ.ม. หน่วยงานทุกหน่วยจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ ให้เข้มข้นขึ้น เช่น การตรวจวัดควันดำ ตรวจสภาพรถยนต์ การปรับเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น B20 การงดเว้นกิจกรรมในเส้นทางสร้างทางรถไฟฟ้าที่ส่งผลทำให้เกิดฝุ่นละออง การทำฝนหลวง เป็นต้น ระดับที่ 3 ค่าฝุ่นระหว่าง 75 – 100 มคก./ลบ.ม. ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ยุติกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ทันที เพื่อให้สภาพอากาศกลับมาได้เหมือนเดิม และระดับที่ 4 ค่าฝุ่น เกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณาเฉพาะวาระเดียวเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ได้รายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศ และการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก อาทิ การใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ การตรวจสอบการเผาไหม้เครื่องยนต์ของรถสาธารณะและรถส่วนตัวของประชาชน การตรวจสอบและกวดขันการปล่อยควันของโรงงานอุตสาหกรรม การป้องกันฝุ่นละอองพื้นที่ก่อสร้าง การจำกัดการเผาของเกษตรกร และการทำความสะอาดพื้นผิวถนน โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้ขอความร่วมมือประชาชนเผากระดาษหรือจุดประทัดในที่ที่เหมาะสม เป็นต้น
สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ฯ ได้สั่งการและเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ได้พิจารณาประเมินสถานการณ์ในพื้นที่และดำเนินมาตรการตามขั้นตอนการปฏิบัติการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะอากาศดังกล่าว ซึ่งจากรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ทราบว่าปัญหาหลักของแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง คือ การปล่อยควันของรถบนท้องถนน จึงขอให้ผู้ว่าฯ หามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการใดให้คำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างด้วย สำหรับการประกาศหยุดการเรียนการสอนของสถานศึกษาให้ประเมินสถานการณ์และพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยขอให้คำนึงถึงสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ และให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ขนส่งจังหวัด และหน่วยทหาร เข้มงวดกวดขันตรวจสอบการปล่อยควันของโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะสาธารณะและส่วนตัวทั้งทางบกและทางน้ำ รวมทั้งสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ โดยในขณะนี้ขอให้ผู้ว่าฯ ทั้ง 6 จังหวัดดำเนินมาตรการในระดับที่ 2 และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการในระดับที่ 3 หากสถานการณ์ของสภาพอากาศเข้าสู่ภาวะวิกฤต และขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและทุกจังหวัดตรวจเช็คสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและรายงานกระทรวงมหาดไทยทราบเพื่อหารือกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

ขอบคุณข้อมูลข่าวสารที่มา กองสารนิเทศ สป.มท.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link