ชมรมรักบ้านเกิดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบพิธีกวนข้าวมธุปายาส 12 ปีนักษัตร 12 กระทะ เนื่องในงานประเพณีมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2562 และสมโภชพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ชมรมรักบ้านเกิดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบพิธีกวนข้าวมธุปายาส 12 ปีนักษัตร 12 กระทะ เนื่องในงานประเพณีมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2562 และสมโภชพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

วันนี้(18 ก.พ.62) เวลา 17.30 น. ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ชมรมรักบ้านเกิดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบพิธีกวนข้าวมธุปายาส 12 ปีนักษัตร 12 กระทะ เนื่องในงานประเพณีมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2562 และสมโภชพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะ มีนายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธี โดยมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากเข้าร่วมพิธีกวนข้าวมธุปายาสตามปีนักษัตรหรือปีเกิดของตัวเอง โดยใช้เวลาในการกวนประมาณ 8 ชั่วโมง ซึ่งข้าวมธุปายาสหรือข้าวยาโคที่กวนเสร็จแล้วจะมีการตัดเป็นชิ้นถวายแด่พระสงฆ์และแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในวันมาฆบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไปด้วย

สำหรับพิธีกวนข้าวมธุปายาส หรือข้าวยาคู เป็นพิธีการหนึ่งในงานประเพณี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ข้าวยาคูหรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่า ข้าวยาโค ในพุทธประวัติเรียกว่า ข้าวมธุปายาส เป็นข้าวทิพย์ที่นางสุชาดา บุตรีมหาเศรษฐีแห่งบ้านเสนานิคม ณ ตำบลอุรุเวลา ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล จัดปรุงขึ้นแล้วนำไปถวายพระมหาบุรุษก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากพระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา แล้ว ก็ได้ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในย่ำรุ่งของคืนนั้นเอง ชาวบ้านจึงเชื่อว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารทิพย์ช่วยให้สมองดี เกิดปัญญาแก่ผู้บริโภค ทำให้ผิวพรรณผ่องใส อายุยืนยาว และเป็นโอสถขนานเอก บันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้บริโภคด้วย

การกวนข้าวมธุปายาสในปัจจุบันนิยมทำกันในวันขึ้น 13 และ 14 ค่ำ เดือนสาม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ข้าวในนากำลังออกรวงเป็นน้ำนมข้าว เพราะน้ำนมข้าวเป็นเครื่องปรุงสำคัญ โดยส่วนใหญ่ใช้วัดเป็นสถานที่กวนข้าวมธุปายาส เพราะว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดมา

สำหรับเครื่องปรุงข้าวมธุปายาสนอกจากน้ำนมข้าวแล้ว มีส่วนประกอบอื่น ๆ มากกว่า 25 ชนิด มีทั้งพวกพืชผัก พืชสมุนไพร ผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ขนุน ทุเรียน จำปาดะ เงาะ พุทรา กล้วย มะละกอ ข้าวโพด ฟักทอง ถั่วลิสงคั่ว เผือก มันเทศ น้ำผึ้งรวง น้ำตาลทราย พริกไทย กานพลู ขิง ข่า งา กะทิมะพร้าว เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลข่าวสาร สำนักประชาสัมพันธ์นครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link