กระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “บัณฑิตพันธุ์ใหม่ราชมงคลล้านนา”

กระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “บัณฑิตพันธุ์ใหม่ราชมงคลล้านนา” ย้ำต้องสร้างยอดฝีมือแรงงานที่เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มีนวัตกรรมและงานวิจัยที่ทรงคุณค่า
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมี รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานของ “หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบควบคุมอัตโนมัติ” ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ได้ร่วมกับ บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพ สู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศซึ่งเป็นความร่วมมือของสถานศึกษาและสถานประกอบการโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิต และสร้างต้นแบบของหลักสูตร ปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระและกระบวนการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ

รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า “หัวใจของการศึกษาหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ คือ การเรียนรู้ที่ได้ปฏิบัติจริงและได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ จากผู้ที่มีทักษะ ความชำนาญและเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยี ทักษะความชำนาญ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจารย์ไม่ได้ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียวแต่ยังทำหน้าที่ของการเป็น Coach ให้แก่นักศึกษาด้วย สำหรับหลักสูตรการเรียนจะมีการปรับปรุงร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและประสิทธิภาพของผู้เรียนอย่างสูงสุด จากความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายยังจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยอันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ได้กลั่นกรองและเรียบเรียงจากการทำงานอย่างแท้จริงและจะสร้างคุณค่าให้สถานประกอบการและมหาวิทยาลัย

รศ.ศีลศิริ กล่าวว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ของมทร.ล้านนาได้ดำเนินโครงการสองรูปแบบ คือ แบบที่หนึ่ง มีปริญญา เปิดสอน 7 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมการผลิต ร่วมกับบริษัท BDI Group หลักสูตรวิศวกรรมเกษตรและชีวภาพ ร่วมกับ BEtagro หลักสูตรวิศวกรรมอิเลกทรอนิกส์ ร่วมกับ Oon Valley หลักสูตรวิศวกรรมเกษตรและชีวภาพ ร่วม บริษัท อนัตตา กรีน จำกัด หลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบควบคุมอัตโนมัติ ร่วมกับ บริษัท ฟูจิคูระ หลักสูตรวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ ร่วมกับ สตาร์โฮลดิ้งกรุ๊ป และบริษัท อาทิตย์จักรกล จำกัด และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบูรณาการ ร่วมกับบริษัท สยามมิชลิน จำกัดและบริษัทอนัตตากรีน จำกัด มีนักศึกษาร่วมโครงการทั้งสิ้น 101 คน แบบที่สองโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่แบบไม่มีปริญญา ได้แก่ หลักสูตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท ธนภักดี จำกัด มีนักศึกษาจำนวน 30 คน หลักสูตรอิเลกทรอนิกส์เกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย มีนักศึกษา จำนวน 30 คน โดยทั้งสองหลักสูตรดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 สำหรับหลักสูตรซ่อมอากาศยานและการจัดการบริการภาคพื้นธุรกิจการบิน และหลักสูตรเกษตรอุตสาหกรรม อยู่ในระหว่างดำเนินการ
ทั้งนี้ มทร.ล้านนาสามารถตอบโจทย์ของโครงการได้เป็นอย่างดี ขอชื่นชมการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างมทร.ล้านนาและบริษัท ฟูจิคูระ ที่ได้ดำเนินการร่วมกันสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่จนเกิดผลเป็นรูปธรรม รศ.นพ.ปรีชา กล่าวปิดท้าย

ข่าว/อภิญญา พูลทรัพย์ นักประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link