กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษารูปแบบการประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกที่จดทะเบียนรถในไทยและมาเลเซีย เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง

กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษารูปแบบการประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกที่จดทะเบียนรถในไทยและมาเลเซีย เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และร้อยละ 70 เป็นการค้าชายแดนที่ใช้การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกผ่านด่านพรมแดน ที่เป็นจุดผ่านแดนถาวรทางบก 8 แห่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ได้แก่ จังหวัดสงขลา (ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ ด่านบ้านประกอบ) จังหวัดนราธิวาส (ด่านสุไหงโก-ลก ด่านตากใบ ด่านบูเก๊ะตา) จังหวัดยะลา (ด่านเบตง) และจังหวัดสตูล (ด่านวังประจัน) ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดพื้นที่จังหวัดสงขลาและนราธิวาสเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกของประเทศไทย ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษารูปแบบการประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกที่จดทะเบียนรถในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง นำเสนอผลจากการศึกษาโครงการดังกล่าว อาทิ ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ รูปแบบการขนส่งสินค้าข้ามแดน (Inter-State) ผ่านแดน (Transit) สิ่งอำนวยความสะดวก (Facilitations) การกำกับดูแล (Regulations) ระบบการขนส่งทางถนนของประเทศมาเลเซีย การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกที่จดทะเบียนรถของประเทศไทยและทะเบียนรถของประเทศมาเลเซีย และแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะ โดยกรมการขนส่งทางบกจะนำผลการศึกษาฯ ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการขนส่งมากำหนดแนวทางในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย มาตรการส่งเสริมภาคเอกชนในการประกอบการขนส่งสินค้าภาคใต้ รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียผ่านด่านพรมแดนทางบกในอนาคต

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกข้ามแดนเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียนั้น ปัจจุบันประเทศมาเลเซียอนุญาตให้รถบรรทุกสินค้าของไทยเข้าประเทศมาเลเซียโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตนำรถยนต์ต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศมาเลเซียชั่วคราว (International Circulation Permit หรือ ICP) ได้ภายในระยะใกล้กับพรมแดน ทำให้ต้องมีการขนถ่ายสินค้าและสับเปลี่ยนรถบรรทุกและส่วนพ่วงตามพื้นที่บริเวณชายแดนเพื่อใช้รถบรรทุกที่จดทะเบียนในประเทศนั้นทำการขนส่งต่อไป ยกเว้นกรณีการขนส่งผ่านแดน ซึ่งประเทศมาเลเซียยินยอมให้มีการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายทางถนนจากประเทศไทยผ่านมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการขนส่งได้รับทราบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบกทั้งภายในประเทศและการขนส่งระหว่างประเทศของมาเลเซีย รวมทั้งข้อมูลอื่นที่จำเป็นภายใต้โครงการศึกษาฯ ดังกล่าว ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนของไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กลุ่มประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
สำนักงานเลขานุการกรม
กรมการขนส่งทางบก
โทร. 0-2271-8805 – 6
Fax. 0-2271-8805

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link