“มิจฉาชีพปลอม Line หลอกโอนเงิน”

“มิจฉาชีพปลอม Line หลอกโอนเงิน”
ตามนโยบายรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการปราบปรามอาชญากรรมที่ได้เกิดขึ้นหลายรูปแบบ มีการขยายตัวเป็นวงกว้างและมีผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ และสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่เป็นปัญหาที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง
ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ศปอส.ตร.) ,พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ในฐานะ รองผู้อำนวยการ ศปอส.ตร., พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม ผบก.สส.สตม.,พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ผบก.ตม.3, พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.บก.จร.บช.น., พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง ผกก.สส.บก.น.4 ได้สั่งการให้ ศปอส.ตร. ชุดปฏิบัติการที่ 2 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองนครปฐม ติดตามจับกุมตัวคนร้าย ซึ่งปลอมแปลงแอพพลิเคชั่นไลน์ หลอกลวงผู้เสียหายโอนเงิน โดยมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนหลายราย
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปอส.ตร. ได้รับการประสานข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองนครปฐม ว่ามีคนร้าย คือ นายณัฐวุฒิ โต๊ะสมัน อายุ 27 ปี มีพฤติการณ์ปลอมแปลงแอพพลิเคชั่นไลน์บุคคลที่มีความสนิทกับผู้เสียหาย แล้วทักแชตมาเพื่อขอยืมเงิน หรือให้โอนเงินให้ โดยมีผู้เสียหายจำนวนหลายราย โดยผู้ต้องหารายนี้ ศาลจังหวัดนครปฐม ได้อนุมัติหมายจับ ที่ 48/2562 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ให้จับกุมบุคคลดังกล่าวในข้อหา “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และโดยเจตนาทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ”
ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2562 พ.ต.ท.ปัญญา กุลไทย หน.ชุดปฏิบัติการที่ 2 ศปอส.ตร.ได้สืบสวนติดตามแกะรอยตัวคนร้ายทราบว่าได้หลบหนีไปอยู่บริเวณห้องพักย่าน ซอยเฉลิมพระเกียรติ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. จึงได้นำกำลัง พร้อมกับฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองนครปฐม เฝ้าติดตาม จนกระทั่งต่อมาพบชายที่มีตำหนิรูปพรรณคล้ายกับนายณัฐวุฒิ โต๊ะสมัน จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ และแสดงหมายจับ ในชั้นจับกุม นายณัฐวุฒิ โต๊ะสมัน ให้การรับสารภาพ ว่าตนเองเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดจริง โดยจะเลือกหาเหยื่อจาก ID Line หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ปรากฎบนหน้าเว็บขายของทั่วไป และคอยเฝ้าสีงเกตดูว่าเหยื่อมีความสนิทสนมกับใครเป็นพิเศษ จากนั้นจึงเลือกปลอมแปลงแอพพลิเคชั่น Line ของบุคคลที่ใกล้ชิด แล้วทักแชตผู้เสียหายเพื่อให้เหยื่อโอนเงิน ทำมาแล้วประมาณ 30 ครั้ง ได้เงินประมาณ 130,000 บาท โดยในคดีนี้เป็นการปลอม Line ของสามี เพื่อขอยืมเงินจากภรรยา (ผู้เสียหาย) โดยในครั้งแรกให้โอนเงินจำนวน 3,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายจึงได้โอนไป ที่บัญชีกสิกรไทย เลขที่ เลขที่ 0062799684 ชื่อบัญชี อพิชญ์ชญาน์ วงษ์เพ็ง ต่อมาขอเพิ่มอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายรู้สึกผิดสังเกต จึงได้โทรสอบถาม ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้เป็นผู้ขอยืมเงินดังกล่าว
ทาง ศปอส.ตร. ขอประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชนท่านใด ที่เคยตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่น Line และสงสัยว่าจะเป็นคนร้ายรายเดียวกัน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สภ.เมืองนครปฐม.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link