กรมควบคุมมลพิษ สรุปผลการจัดประชุมในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่9

กรมควบคุมมลพิษ สรุปผลการจัดประชุมในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่9
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่กรมควบคุมมลพิษ ถนน พหลโยธิน แขวง พญาไท เขต พญาไท กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าวสรุปผลการจัดประชุมในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 9 โดยมี นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานในการแถลงข่าว
รัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และศูนย์พัฒนาภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 4 – 6 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดร่วมกับ นายซึกาสะ อะคิโมโตะ (Mr. Tsukasa Akimoto) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และ นายกาซูซิเกะ เอ็นโดะ (Mr. Kazushige Endo) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ (UNCRD)
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่าการจัดการประชุมในครั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก จาก39 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวนมากกว่า 700 คน โดยมีรัฐมนตรี จาก 7ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ กัมพูชา ญี่ปุ่น มัลดีส์ ศรีลังกา ตูวาลู นับได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน 3R ร่วมกันกับนานาชาตินอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 9ของประเทศไทยในครั้งนี้ ยังสอดรับกับวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 โดยประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่เข้มแข็งและชัดเจน ในเวทีระหว่างประเทศในการให้ความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานความรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยหลักการ 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในประเทศให้ครบวงจร ทันสมัย และเป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร (Partnership) ระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่นกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย ในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ เทคนิค วิชาการ เทคโนโลยี และการลงทุนซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี2030 (Sustainable Development Goals:SDGs)
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่ต่ออีกว่าการประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยได้ประกาศปฏิญญา 3R กรุงเทพ “ว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากขยะพลาสติกโดยใช้หลักการ 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้ให้การรับรองปฏิญญาดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นปฏิญญาแบบสมัครใจและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้แสดงเจตนารมณ์ด้านนโยบายร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการนำหลักการ 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นความท้าทายในการจัดการขยะพลาสติกที่เป็นประเด็นสำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน 3R และการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย รวมทั้งเป็นการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยในประเทศให้ครบวงจร ทันสมัย และเป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทางเลือกในการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ด้วยการการใช้ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมผู้บริโภคให้เลือกใช้และซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การประชุมในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 10 สมาพันธรัฐรัสเซียจะเป็นประเทศเจ้าภาพ จัดร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และศูนย์พัฒนาภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ ในปี 2563

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link