ไหว้ขอพรพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ที่วัดใต้ ในเมืองอุบลราชธานี

สกู๊ปพิเศษ….. ไปกราบไหว้ขอพรพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ที่วัดใต้ ในเมืองอุบลราชธานี
วัดใต้ หรือที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีมักเรียกกันว่า วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ 9 ไร่ อยู่ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล (อยู่ตรงข้ามกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อุบลราชธานี เดิม) สร้างเมื่อ พ.ศ.2373 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา วัดใต้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดใต้ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ” เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปเก่าแก่ นามว่า ” พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ” ซึ่งมีตำนานตามที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ขณะหล่อและอัญเชิญ พระเจ้าองค์ตื้อ มาประดิษฐานภายใน พระอุโบสถวัดใต้นั้น ได้เกิดฝนฟ้าคะนองนานถึง 7 วัน 7 คืน ซึ่งชาวอุบลฯเชื่อว่า เป็นอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์ ของ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นเนื้อทองเก้าสัมฤทธิ์ปางวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (รวมฐาน) ได้รับการยกย่องมาว่า เป็นพระพุทธรูป ที่งดงามในประเทศไทยและภาคอีสานเป็นพระประธานองค์ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองนครเวียงจันทร์ ตามประวัติ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ มีอยู่ 5 องค์ อยู่ในประเทศไทย 4 องค์ ได้แก่ พระเจ้าองค์ตื้อ อยู่วัดใต้ ในเมืองอุบลราชธานี พระเจ้าองค์ตื้อ อยู่ที่วัดปากแซง อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี พระเจ้าองค์ตื้อ อยู่ที่วัดสีชมพู อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเจ้าองค์ตื้อ อยู่ที่วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่และพระเจ้าใหญ่องค์ตื้ออยู่ที่ ประเทศลาวอีก 1 องค์ ซึ่งเป็นรูปลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ตามสันนิฐานว่า คงเป็นช่างสมัยเดียวกัน
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ที่วัดใต้ ในเมืองอุบลราชธานี เดิมทีประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่ายๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าองค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตก เป็นสะเก็ดออกมา ผู้เฒ่าผู้แก่ สมัยปู่ย่าตาทวดได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และเถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 ครั้งนั้นพระภิกษุสวัสดิ์ ทสฺสนีโย ราชาคณะชั้นราช ที่พระราชธรรมโกศล เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ รูปที่ 13 และเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธ) ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น นำพระภิกษุ-สามเณร ทายก-ทายิกา และชาวบ้านชุมชนใกล้กวัด ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้ รวมอายุองค์พระประมาณ 225 ปี
ภายใน พระอุโบสถ ของวัดใต้ นอกจากจะมีพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางยืนห้ามสมุทร 4 องค์ และพระพุทธรูปเจตมนเพลิง องค์ตื้อ (สีดำสนิท) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน พระอุโบสถ และทุกวันที่ 1 ถึง 5 เดือนมีนาคม ของทุกปี ทาง วัดใต้ จะจัดให้มีงานเทศกาลอัญเชิญพระพุทธรูปเจตมุนเพลิงองค์ตื้อ เพื่อให้ประชาชนได้นมัสการสรงน้ำตลอด 5 วัน 5 คืน และฝาผนังของพระอุโบสถยังมีภาพวาดเขียนพุทธประวัติและพระเจ้าสิบชาติ ภาพรูปเหมือนอดีตพระบูรพาจารย์ ของเมืองอุบลฯ และประวัติศาสตร์ของ เมืองอุบลฯได้บันทึกของเก่าไว้ว่า ปูชนียวัตถุสถานสำคัญ ๓ วัดของเมืองอุบลราชธานี คือ พระบทม์ อยู่วัดกลาง พระปาง (พระปางห้ามสมุทร) อยู่วัดใต้ และ หอไตรอยู่วัดทุ่งศรีเมือง
นอกจากนี้ วัดใต้ ยังเป็น วัดบูรพาจารย์ทาง ฝ่ายวิปัสสนาธุระในอดีตพำนักในการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน โดยบูรพาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระในอดีตที่เคยพำนักเช่น พระอุปัชฌาย์สีทา ชยเสโน พระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล และท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนโท จันทร์) เป็นต้น ซึ่งบูรพาจารย์ทุกท่านได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เป็นศาสนทายาทเผยแผ่สัจจะธรรมในพระพุทธศาสนา จนเป็นที่รู้จักเลื่องลือในพระเกียรติคุณของบูรพาจารย์ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

กิตติภณ เรืองแสน / อุบลราชธานี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link