ศาลอาญา และสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ลงนามความร่วมมือในการบังคับโทษปรับและการบังคับคดีผู้ประกัน กรณีผิดสัญญาประกันต่อศาลในคดีอาญา

ศาลอาญา และสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด
ลงนามความร่วมมือในการบังคับโทษปรับและการบังคับคดีผู้ประกัน
กรณีผิดสัญญาประกันต่อศาลในคดีอาญาวันนี้ (2 เมษายน 2562) เวลา 14.00 น. นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และนายชาตรี สุวรรณิน อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับโทษปรับและการบังคับคดีผู้ประกันกรณีผิดสัญญาประกัน
ต่อศาลในคดีอาญา เพื่อประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานในการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับและผู้ประกันในคดีอาญา โดยมี นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 12 อาคารศาลอาญา
ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เปิดเผยว่า ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 29/1 บัญญัติให้ การบังคับคดีในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งและพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่
ในการดำเนินการบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากศาลหรือพนักงานอัยการ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 บัญญัติให้ การบังคับคดีในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งและพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับตามสัญญาประกัน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ประกันและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากศาลหรือพนักงานอัยการ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับโทษปรับและการบังคับคดีผู้ประกันกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล
ในคดีอาญา ในวันนี้ จะก่อให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งสองฝ่ายในการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับและผู้ประกันในคดีอาญาทางโทรสารและไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญในภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน สามารถรวบรวมทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับหรือผู้ประกัน
มาชำระค่าปรับต่อศาล รวมถึงการดำเนินการบังคับคดีกับผู้ต้องโทษปรับหรือผู้ประกันในคดีอาญาเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับหรือผู้ประกันในคดีอาญามาใช้ค่าปรับให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบังคับใช้กฎหมาย
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการบังคับคดีแล้ว ยังช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานเกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ การประสานงานระหว่างหน่วยงานผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยลดการใช้กระดาษ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้สามารถติดตามสืบหาทรัพย์อันพึงยึด อายัดทรัพย์ของจำเลยที่ไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดหรือนายประกันที่ผิดสัญญาประกันต่อศาลได้ทันและรวดเร็วขึ้น และเป็นผลให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายประธานศาลฎีกาและแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ. 2561 – 2564 รวมถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการอำนวยความยุติธรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นศาลดิจิทัลในปี 2563 หรือ D-Court 2020 ที่ศาลยุติธรรมจะสามารถปรับปรุงระบบการทำงาน นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link