หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา 1 ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว “รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์” อธิบายข้อแตกต่างระหว่าง “การค้าประเวณี” กับ “การค้ามนุษย์”…

?ค้ามนุษย์ ≠ ค้าประเวณี?
หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา 1 ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว “รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์” อธิบายข้อแตกต่างระหว่าง “การค้าประเวณี” กับ “การค้ามนุษย์”…

?#ค้ามนุษย์ไม่ใช่ค้าประเวณีธรรมดา
?#ค้ามนุษย์คือวาระแห่งชาติ
…วอนสังคมโปรดเห็นใจ?…
วันนี้ขอมาทำความเข้าใจในเรื่อง #การค้าประเวณี กับ #การค้ามนุษย์ หน่อย เพราะเห็นว่าหลายคนยังแยกไม่ออกและยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า 2 เรื่องนี้แตกต่างกันอย่างไร หลักง่ายๆ เลย คือ ให้เข้าใจว่า #การค้ามนุษย์คือขั้นกว่าของการค้าประเวณี นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า #ปัญหาการค้ามนุษย์ คือ เรื่องระดับชาติ โดยประเทศไทยประสบกับปัญหาการค้ามนุษย์ จากข้อครหาและการไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศมาช้านาน จนในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้ประกาศให้ #การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติ แต่จนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังถูกจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ว่า ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานอยู่ดี

ส่วนการค้าประเวณีนั้น บางประเทศสามารถทำเป็นอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ค้าประเวณีมีประกันสังคมและต้องเสียภาษี ส่วนประเทศไทยคงต้องเรียกว่า #มือถือสากปากถือศีล หมายถึง การค้าประเวณีถือว่าผิดกฎหมาย แต่เป็นที่เข้าใจและยอมรับกันในสังคมว่า ปล่อยให้มีได้ อย่างเช่น อาบอบนวดหรือซ่อง คงไม่ต้องให้ผมพูดชื่อหลอกนะว่ามีที่ใดบ้าง แต่ถ้าการค้าประเวณีเช่นว่านั้น มีการนำเด็กมาค้าประเวณี หรือมีการบังคับ/หลอกลวงให้มีการค้าประเวณีอย่างไม่เต็มใจ แบบนี้จะเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและยอมไม่ได้โดยเด็ดขาด

คราวนี้มาดูสิว่า การค้ามนุษย์ในรูปแบบของ #การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี นั้นเป็นอย่างไร โดยถ้าดูตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1.การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี #เด็กอายุไม่เกิน18ปี แม้ว่าเด็กนั้นจะเต็มใจหรือยินยอมมาค้าประเวณี ก็ต้องถือว่าเป็นการค้ามนุษย์ทันที

ส่วนการที่ต้องให้ความคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีนี้ ถือเป็น #เรื่องสากลระหว่างประเทศ ที่ทุกประเทศจักต้องส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้เป็นไปตามช่วงวัยของการพัฒนาการ และสมควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งมีที่มาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องสิทธิของเด็ก กำหนดให้ “รัฐต้องคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การค้าประเวณีหรือการกระทําอื่นๆ ทางเพศ” และข้อตกลงระหว่างประเทศตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและพิธีสารแนบท้าย (พิธีสาร Palermo) ระบุนิยามถึง การค้ามนุษย์ หมายถึง “การจัดหา ขนส่ง โยกย้าย ให้ที่พักพิงหรือรับบุคคล ด้วยการขู่หรือใช้กำลังหรือรูปแบบอื่นๆ ของการบังคับ การลักพา ฉ้อฉล หลอกลวง หรือใช้อำนาจในทางท่ีผิด หรือทำให้ได้รับบาดเจ็บ การให้หรือรับเงินหรือผลประโยชน์ต่อบุคคลที่ทำการควบคุมบุคคลอื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตน ซึ่งหมายรวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นในการเป็นโสเภณี หรือรูปแบบอื่นของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ หากกระทำต่อเด็ก ซี่งหมายถึง บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี แม้ไม่ใช่วิธีต้องห้ามดังกล่าว ก็ถือเป็นความผิดการมนุษย์” ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็ให้ความยินยอมภายใต้ข้อตกลงเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

เช่นนี้ ปัจจุบันคำว่า #การค้าประเวณีเด็ก จึงไม่มีแล้ว เพราะมีความหมายเท่ากันกับ “การค้ามนุษย์” แล้ว ฉะนั้น จึงขอย้ำอีกครั้งว่า แม้ว่าเด็กนั้นจะเต็มใจมาค้าประเวณี มันก็คือ “การค้ามนุษย์” นะ!!

2.การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี #ผู้ใหญ่ (อายุเกินกว่า 18 ปี) จะต้อง #มีวิธีการประกอบ เช่น การข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเขาเต็มใจมาค้าประเวณีเองจริงๆ จะมีความผิดเพียงตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เท่านั้น ยังไม่ถือว่า เป็นการค้ามนุษย์ ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจและแยกให้ออกว่า “การค้าประเวณี ≠ การค้ามนุษย์”

ส่วนการจะตัดสินว่าเขา #เต็มใจค้าประเวณี หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ถ้ามองแค่ผิวเผิน เอาตามความเชื่อหรือตามความรู้สึก อาจมองเหมือนว่าเขาเต็มใจมาค้าประเวณีทั้งนั้น แต่หากได้ตรวจสอบและทำความเข้าใจให้ลึกๆ แล้ว ก็อาจเป็น #การใช้อำนาจโดยมิชอบ จากผู้แสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีก็เป็นได้ ซึ่งก็เป็นได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่
(1) การใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ (ที่เห็นบ่อยๆ คือ ด้วยความเบาปัญญา เมื่อมาอยู่กับเขาแล้ว ก็ต้องฟังเขา เขาให้ทำอะไรก็ต้องทำ เพราะไม่อยากให้เขาดุด่าหรือไม่พอใจ ดังนั้น ให้ขายตัวก็ต้องทำ)
(2) ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ (ที่เห็นบ่อยๆ ก็จะอ้างว่า ถ้าไม่ยอมขายตัวจะให้ตำรวจมาจับขังคุกขี้ไก่)
(3) การให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแลได้ (ที่เห็นบ่อยๆ คือ กรณีจำใจต้องทดแทนบุญคุณพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ขายตนมาแล้ว ก็ต้องจำใจขายตัวไป)
รวมทั้ง ยังมีลักษณะของ #การบังคับทางอ้อม อันได้แก่ การยึดเอกสารสำคัญประจำตัวไว้ (เช่น ยึดพาสสปอร์ตหรือบัตรแรงงาน ไม่ยอมขายตัวจะไล่ออกจากบ้าน ให้ออกไปถูกจับ) หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ (เช่น พ่อแม่ไปเอาเงินเขามาแล้ว เขาให้ขายตัว ไม่ทำจะเอาเงินที่ไหนไปคืนเขา) ทั้งนี้ รวมถึง #การขูดรีดบุคคล เช่น การหักหัวคิวมากๆ หรือการบังคับให้ซื้อของใช้เฉพาะที่ขายให้ซึ่งราคาแพงกว่าปกติ ฯลฯ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามอีกด้วย

สรุป จะถือเป็น “การค้ามนุษย์” ก็คือ
(1) เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี หรือ
(2) เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีผู้ใหญ่ โดยการข่มขู่ บังคับ (ทั้งทางตรง/ทางอ้อม) หลอกลวง หรือใช้อำนาจโดยมิชอบต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบ

โดยในส่วนของการดำเนินคดี ถ้าเป็นการค้าประเวณีธรรมดา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 จะดำเนินคดีกับทั้งเจ้าของกิจการ/ผู้เป็นธุระจัดหา และผู้ค้าประเวณี แต่หากเป็นคดีค้ามนุษย์ จักดำเนินคดีเฉพาะ #ผู้แสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี แต่ไม่ใช่เพียง #การเป็นธุระจัดหา เท่านั้น ยังรวมถึงการซื้อ/พามา หรือรับไว้จัดให้อยู่อาศัย รวมถึงการหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ด้วย ส่วน #ผู้ถูกให้ค้าประเวณี หรือ #ผู้ถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี จะไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด โดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ถือว่าเป็น #ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งจักต้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องอาหาร ที่พัก การรักษาพยาบาล การบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ การให้การศึกษา การฝึกอบรมอาชีพ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย (เรียกร้องค่าทดแทน/ค่าเสียหาย) และการส่งกลับไปยังภูมิลำเนาของผู้นั้น

สรุป ถ้าเป็น “คดีค้ามนุษย์” จับ!! เจ้าของ/ผู้เป็นธุระจัดหา ช่วยเหลือ!! ผู้ถูกนำมาค้าประเวณี

ท้ายนี้ ผมจะขอพูดในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ #ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง (ชปพ.ปค.) หน่อยว่า เราคือชุดเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาให้การสนับสนุนงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามการกระทำความผิด โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่นนี้ กรณีที่ ชปพ.ปค. ออกไปจับกุม #อาบอบนวด #ร้านนวด หรือ #ร้านคาราโอเกะ จะเป็นเฉพาะกรณีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่แค่การค้าประเวณีผิดกฎหมายธรรมดา แต่จักต้องมีพฤติการณ์ในการบังคับ/หลอกลวง หรือนำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มาค้าประเวณี ซึ่งเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ ส่วนเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีธรรมดาทั่วไป ก็คงต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลคงต้องมีนโยบายออกมาให้ชัดเจนต่อไปว่า จะดำเนินการอย่างไร หรือเป็นเรื่องในระดับพื้นที่ว่า จะเข้มงวดกวดขันกันมากน้อยเพียงใด จึงเรียนมาเพื่อโปรดทำความเข้าใจด้วยครับ

โดย ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์
3 เมษายน 2562

อ้างอิง : https://www.facebook.com/100001537538315/posts/2276446455749917?sfns=mo

ขอบคุณข้อมูลข่าวสาร ที่มา ปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link