มทร.ธัญบุรี จับมือ “เยอรมนี” ปั้มช่างซ่อมอากาศยานมาตรฐาน EASA

มทร.ธัญบุรี จับมือ “เยอรมนี” ปั้มช่างซ่อมอากาศยานมาตรฐาน EASA

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอากาศยานกับบริษัท AERO-Bildungs GmbH ประเทศเยอรมนี เพื่อสร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากรทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐานคณะกรรมการและหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency หรือ EASA) โดยความร่วมมือกำหนดให้ มทร.ธัญบุรี ตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรม EASA Part-147 เพื่อจัดการเรียนการสอนทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA ในระดับ Category A1, B1.1, B2 โดยจะแบ่งเป็นหลักสูตรย่อย คือ หลักสูตรแบบ Non-Degree ระยะเวลาประมาณ 2 ปี รับบุคคลทั่วไป หรือบุคลากรที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ต้องการพัฒนาตนเองเข้าสู่มาตรฐาน EASA , หลักสูตรระดับปริญญาตรี 2 ปี และ 4 ปี รับนักเรียนที่จบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรระยะสั้น 35 วัน และ 75 วัน สำหรับบุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มทร.ธัญบุรียังได้รับเลือกให้เป็นศูนย์สอบมาตรฐาน EASA ทำหน้าที่เป็นศูนย์สอบวัดความรู้ในโมดูลต่างๆ ตามมาตรฐาน EASA รวมถึงให้ มทร.ธัญบุรีเป็นศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน เช่น หลักสูตร EWIS หลักสูตร FTS หลักสูตร Train the Trainer หลักสูตร Human factor หลักสูตร Legislation เป็นต้น โดยบุคลากรที่ผ่านการอบรมและสอบวัดระดับความรู้ จะได้ใบประกาศที่รับรองโดย EASA สามารถไปทำงานและยื่นขอใบอนุญาต (License) การซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA Part-66 ได้
“อุตสาหกรรมการบินมีการขยายตัวเร็ว จะเห็นได้ว่าสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) มีการขยายตัวไปทุกจังหวัด การหาบุคลากรที่สามารถซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ได้ตามมาตรฐานสากลยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการสร้างกำลังคนและพัฒนาศูนย์ซ่อมในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ภาคการศึกษาจึงจำเป็นต้องสร้างแรงงานเข้าไปรองรับ โดยที่ผ่านมา มทร.กรุงเทพได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วน มทร.ธัญบุรีถือเป็นแห่งที่สอง และจะขยายต่อไปที่ มทร.ล้านนา มทร.อีสาน โดยกลุ่มราชมงคลต้องช่วยกันทำเรื่องนี้ เพราะธุรกิจการบินไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในกรุงเทพ แต่กระจายไปทั่ว ไหนจะมีการบินตรงจากต่างประเทศสู่จังหวัดใหญ่ๆ ตามภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี จะใช้งบประมาณในการจัดสร้างโรงซ่อมศูนย์อากาศยานขนาดย่อม 100 ล้านบาท อยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเปิดรับนักศึกษาปีละ 30 คน” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว.

ไมตรี บรรฑิตย์ รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link