สสว. – มทร.ธัญบุรี ดัน ‘คลัสเตอร์ชีววิถีน้ำเกี๋ยน’ สู่เครือข่ายสมุนไพรภาคเหนือประเทศไทย

สสว. – มทร.ธัญบุรี ดัน ‘คลัสเตอร์ชีววิถีน้ำเกี๋ยน’
สู่เครือข่ายสมุนไพรภาคเหนือประเทศไทยสสว. จับมือ มทร.ธัญบุรี สานต่อความสำเร็จ “คลัสเตอร์ชีววิถีน้ำเกี๋ยน” จ.น่าน ขยายสู่เครือข่ายสมุนไพรภาคเหนือของประเทศไทย
ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า จากการดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ที่เป็นการรวมกลุ่มแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจากความสำเร็จในปี 2560 – 2561 ที่ผ่านมา การพัฒนาผู้ประกอบการแบบคลัสเตอร์เป็นอีกแนวทางที่ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้ กระตุ้นการจับจ่ายและเกิดการพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ในปี 2562 นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ SME จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี พัฒนากลุ่มเครือข่ายสมุนไพร ซึ่งเป็นการดำเนินต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน ระหว่างผู้ประกอบการจากฐานล่างถึงระดับบน ให้เป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง มีการช่วยเหลือพึ่งพาภายในกลุ่มคลัสเตอร์ของตนเอง โดยจะเน้นไปในเรื่องการพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน เพื่อการนำสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นสำคัญ และกลุ่มที่ 2 เป็นการดำเนินงานในปีแรก คือคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ที่เน้นไปในเรื่องการรวมกลุ่ม การทำแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็ง ตามความต้องการของกลุ่มคลัสเตอร์นั้นๆ

ผศ.ดร.มโน กล่าวอีกว่าการดำเนินงานในปี 2562 นี้ การพัฒนาคลัสเตอร์สมุนไพรจะมีความเข้มข้น เพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามาร่วมโครงการเป็นอย่างมาก ในการพัฒนาจะเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นแนวทางหลัก เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันได้ทั้งในตลาดระดับประเทศ และตลาดต่างประเทศได้ และได้จัดอบรมเชิงปฎิบัติการให้กับ คลัสเตอร์ชีววิถีน้ำเกี๋ยน หัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานของคลัสเตอร์ชีววิถีน้ำเกี๋ยน” กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพร ภายใต้โครงการสนับสนุน SME ปี 2562 ณ หอประชุมบ้านใหม่พัฒนา อ.ภูเพียง จ.น่าน โดยให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำมาตรฐาน PGS ด้านการผลิตสมุนไพร และการทำการตลาดออนไลน์ แนวทางการเพิ่มยอดขายที่เหมาะกับสินค้า การร่วมกันวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์คลัสเตอร์ชีววิถีน้ำเกี๋ยนเพื่อการดำเนินงานในปี 2562 รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนการเงิน
“ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาและศักยภาพคณาจารย์ มทร.ธัญบุรี ที่สร้างและพัฒนางานวิจัยนวัตกรรม และองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจได้ว่าโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 นี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพ ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง พัฒนาการผลิต การบริหารจัดการธุรกิจ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สูงขึ้นต่อไป” ผศ.ดร.มโน กล่าว
ด้าน นายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ต.น้ำเกี๋ยน จ.น่าน กล่าวว่าการรวมกลุ่มคลัสเตอร์หรือเครือข่ายก่อให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาธุรกิจต่อไปได้ สิ่งสำคัญคือการขยายผลต่อยอดธุรกิจ พัฒนาสมุนไพรสู่สินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีมาตรฐานและผ่านการรับรองคุณภาพ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อและได้รับการยอมรับของวิสาหกิจชุมชนของเราก็คือแชมพูใบหมี่ “กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพรฯ ครั้งนี้ เปรียบเหมือนนำพาทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ มาชาร์ตแบตเตอรี่ ป้อนไปใช้ในสมองเพื่อการต่อยอดธุรกิจ ขยายพื้นที่ของสมุนไพรให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ นายบุญชู ดีพรมกุล คณะกรรมการฝ่ายบริหารวิสาหกิจชุมชนชีววิถี เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร วัย 67 ปี เผยว่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS เป็นสิ่งที่น่าสนใจและมีประโยชน์ไม่เพียงแค่ผู้บริโภค แต่ยังส่งผลดีต่อผู้ปลูกเป็นอย่างมาก ทำให้คุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี สารปราบศัตรูพืช “อยากได้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ อยากได้มาตรฐานรับรองฯ จึงมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้” โดยตนนั้นเริ่มปลูกผักเชียงดา ขมิ้นเหลือง มะเขือ พริกและสมุนไพรอื่น ๆ บนพื้นที่กว่า 1 ไร่ และตั้งใจจะทำสมุนไพรสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์.

ไมตรี บรรฑิตย์ รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link