ประชาชนร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี

ประชาชนร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 8.30-12.00 น. วันที่ 22 พ.ค.62 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพลับพลา ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี ได้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการประเมินทางเลือก โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง อ.เมืองราชบุรี โดยมี พ.อ. พงสวัสดิ์ ภาชนะทิพย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.ราชบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และมีชาวบ้านในพื้นที่ต.เกาะพลับพลา จำนวน 80 คน เข้าร่วมรับฟังฯ

นางดวงกลม พรหมสุวรรณ ผู้ชำนาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท คอนซั้ลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม) ได้บรรยายให้ข้อมูลว่า สืบเนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าหลักใน จ.ราชบุรี ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบกำลังการผลิตระหว่างปี พ.ศ.2563-2570 ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าหายไปทั้งสิ้น 5,581 เมกะวัตต์ จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหินกองนี้ขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนกำลังการผลิตที่หายไป ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง จะมีกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ พัฒนาโครงการโดยบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือRATCH ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าเดิม คือบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (สาขาโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ – TECO) เป็นบริษัทในเครือ RATCH เช่นกัน ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยโครงการโรงไฟฟ้าหินกองนี้ เกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (Power Development Planning : PDP2018) โดยกระทรวงพลังงาน เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ที่จำเป็นต้องจัดสรรให้มีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงในภาคตะวันตก

สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำโครงการนำเสนอรายละเอียดโครงการ ขอบเขตและแนวทางการศึกษา อีกทั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปศึกษาถึงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการดำเนินโครงการ รวมไปถึงให้ครอบคลุมประเด็นประชาชนที่มีพื้นที่อยู่ในชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้ารัศมีระยะ 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมฯ มีประชาชนแสดงความคิดเห็น ประเด็นสำคัญได้แก่ ข้อห่วงกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น ความร้อน ฝุ่นละออง และการดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรและอนุมัติงบประมาณจากภาครัฐของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในการช่วยเหลือเยียวยาให้กับหมู่บ้านชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และได้ชี้แนะให้ทางคณะกรรมการผู้บริหารการผลิตไฟฟ้า ได้พิจารณาในการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าโรงใหม่ โดยให้ไปปรับปรุงโรงผลิตไฟฟ้าเก่าที่มีอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนไปมากกว่านี้ แต่ถ้าคณะผู้บริหารการผลิตไฟฟ้า ยังคิดจะดำเนินการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าใหม่ แทนโรงผลิตไฟฟ้าแห่งเก่า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น ทางประชาชนก็จะไม่ยอมรับความคิดเห็นของโรงผลิตไฟฟ้าทุกกรณี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับโรงผลิตไฟฟ้าในพื้นที่จ.ราชบุรี ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ณ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา จำนวน 7 แห่ง รวมกำลังการผลิต(MW) 6,425.58 เมกะวัตต์ , ใช้เชื้อเพลิงประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 7 แห่ง รวมกำลังการผลิต(MW) 24.02 เมกะวัตต์ , ใช้เชื้อเพลิงประเภทชีวมวล ถ่านหิน ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 8 แห่ง รวมกำลังการผลิต(MW) , 189.03 เมกะวัตต์ และใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ มีจำนวน 1 แห่ง รวมกำลังการผลิต(MW) 1.48 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่จ.ราชบุรี มีกำลังการผลิต(MW) รวม 6,640.11 เมกะวัตต์

สุจินต์ นฤภัย (เต้)

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link