โครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม

โครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม

ช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่จากเดิม ที่มี ๔,๐๔๓ กม.เป็น ๘,๐๐๐ กม.หรือเพิ่มอีก ๑ เท่าตัว ซึ่งเส้นทางเหล่านี้มีการศึกษาและต้องรอคอยมากว่า ๓๐ ปี และที่ประชุม ครม.วันที่ ๒๘ พ.ค.๖๒ ได้มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง ๓๕๕ กม.และร.ฟ.ท.จะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินใน ปี ๖๒ ประกวดราคาในปี ๖๓ คาดสามารถเริ่มก่อสร้างในเดือน ม.ค.๖๔ แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.๖๗ พร้อมเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือน ม.ค.๖๘

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ฯ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางยุทธศาสตร์โครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนบน (Upper East-West Economic Corridor) ช่วง แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ ช่วงแรก บ้านไผ่-นครพนม ช่วงที่ ๒ จากนครสวรรค์-บ้านไผ่ ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม ใช้เวลา ๖ เดือน แล้วเสร็จปลายปี ๖๒ และช่วงที่ ๓ จากนครสวรรค์-แม่สอด ได้ศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ แนวเส้นทางระเบียบเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก จะเชื่อมโครงข่ายรถไฟเดิมไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนด้านตะวันออกจะเชื่อมไปยังโครงการศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จ.นครพนม ซึ่งกรมการขนส่งทางบกกำลังก่อสร้างและสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟจากนครพนมไปยัง สปป.ลาว เชื่อมไปถึงเมืองวินและฮานอย ประเทศเวียดนาม ขณะที่ด้านตะวันตกจากแม่สอดสามารถเชื่อมไปยังท่าเรือย่างกุ้ง ท่าเรือละแหม่ง ประเทศเมียนมาในอนาคตได้อีกด้วย

การก่อสร้างทางรถไฟจะเป็นคันทางระดับดินและบางส่วนจะยกระดับ ผ่านพื้นที่ทั้งหมด ๗๐ ตำบล ๑๖ อำเภอ ๖ จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน ๓๐ สถานี ๑ ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า ๓ แห่ง และกองตู้สินค้า ๓ แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จ.ขอนแก่น) สำหรับการซ่อมเบาและการซ่อมปานกลาง ส่วนการซ่อมหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักร จ.อุตรดิตถ์

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link