ปทุมธานี รู้ทันเรื่องเหล็ก…..คนทำเหล็กหัวใจต้องแข็งกว่าเหล็กจริงหรือไม่?

ปทุมธานี รู้ทันเรื่องเหล็ก…..คนทำเหล็กหัวใจต้องแข็งกว่าเหล็กจริงหรือไม่?

เลขาสมาคมนักข่าวปทุมธานี อณัญญา อินพุ่มร่วมกับ กลุ่ม Newbiz1 และ รองนายกอุตสาหกรรมเหล็กไทย เข้าถ่ายทอดประสบการณ์ธุรกิจเหล็กไทย ตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ธุรกิจหลายภาคส่วนประสบภาวะถดถอย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ธนาคารจัดเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ปล่อยเงินกู้ให้ผู้เล่นหน้าใหม่และเฝ้าระวังพิเศษสำหรับลูกค้ารายเก่า เวลานั้นราคาเหล็กตกวูบภายในสองเดือน

การถ่ายทอดเรื่องราวโดยคุณศักดิ์ชัย ธนบดีจิรพงศ์ รองนายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย เล่าว่าเมื่อผ่านพ้นจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้เพียงไม่นานหลังจากพอมีอากาศหายใจสักพัก เศรษฐกิจยุโรปก็เกิดวิกฤติตามมาส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงจีนถดถอยไปตามกัน ความต้องการเหล็กของโลกลดน้อยลง แม้แต่จีนเองซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ที่มีกำลังการผลิตถึง 70% หรือ 1 พันล้านตันต่อปี กลับมีความต้องการใช้เหล็กเหลือแค่ 8 ร้อยล้านตันต่อปีเท่านั้น

ส่วนตลาดเหล็กในประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็กในทุกชนิดรวมกันเพียงแค่ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี เปรียบเทียบไม่ได้เลยทีเดียวกับตลาดใหญ่อย่างจีน ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อความอยู่รอดของผู้ผลิตจีนได้นำสต๊อกที่เหลือทั้งหมดออกมาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าทุน และสามารถขอคืนภาษีจากภาครัฐได้ ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในเมืองไทยนอกจากไม่สามารถแข่งขันได้แล้วยังนับเป็นวิกฤตอีกครั้งของวงการเหล็กไทย

เหตุการณ์ในครั้งนี้ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไทยร่วมกันขอร้องให้ภาครัฐออกมาสร้างมาตรการปกป้องภาคอุตสาหกรรมเหล็กไทย แต่ก็ไร้ประโยชน์อันเนื่องมาจากกระบวนการหรือผลประโยชน์ซึ่งหาข้อสรุปไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้วจากวิกฤติในครั้งนี้ก็ทำให้ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไทยล้มหายตายจากกันไปอีกหลายราย

ผ่านจากเหตุการณ์นี้อีกหลายปี ทางรัฐบาลจีนเองก็ทนถูกกดดันจากนานาประเทศไม่ไหวจึงจำเป็นต้องออกมาตรการลดกำลังการผลิตลง 2 ร้อยล้านตันต่อปีเพื่อสร้างความสมดุลย์ทางการตลาด ในครั้งนี้ทางรัฐบาลจีนสั่งปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 10,000 โรงและลดกำลังการผลิตตามเป้าหมายภายในสองปี ดูเหมือนภาคอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยจะเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่แล้วช่วงเวลาที่งดงามก็ถูกวิกฤตถาถมเข้ามาอีกครั้งนั่นคือ โรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานและถูกสั่งปิดโดยรัฐบาลจีนกำลังย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทยและประเทศอาเซียนเพื่อนบ้านของเรานั่นเอง โรงงานที่ถูกปิดจากจีนทั้งหลายต่างนำเอาเครื่องจักรเก่าที่รื้อถอนจากจีนมาปักหลักเริ่มดำเนินการใหม่อีกครั้ง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2562 ในการเยี่ยมชมบริษัทหลิ่งหนันสตีลจำกัด และการจัดการจำลองธุรกิจโดย กลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก NewBiz1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี คุณศักดิ์ชัย ธนบดีจิรพงศ์ รองนายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัทหลิ่งหนันสตีลจำกัด กล่าวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ได้ผ่านวิกฤติในภาคอุตสาหกรรมเหล็กมามากมายจนเกือบลาวงการไปแล้วเช่นกัน แต่ทุกวิกฤตที่ผ่านพ้นมาทำให้เกิดการเรียนรู้ต่างๆและพยายามใหม่เสมอ นอกจากนั้นยังให้ข้อคิดในการทำงานว่า หลักการบริหารที่ใช้คือทำแบบไม่เกินตัว ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงด้วยความระมัดระวัง วิเคราะห์ข่าวสาร และพัฒนาให้ทันต่อเหตุการณ์เสมอ อีกทั้งการมีพันธมิตรที่ดีคอยช่วยเหลือกันจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมั่นคง

คุณอณัญญา อินพุ่ม เลขสมาคมนักข่าวปทุมธานี และประธานกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก NewBiz1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวถึงการเยี่ยมชมและการจัดการจำลองธุรกิจในครั้งนี้ว่า การศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เน้นเฉพาะการเรียนในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การศึกษาจากธุรกิจจริงจะทำให้เห็นภาพกว้างและได้ประสบการณ์ตรง อีกทั้งเป็นการเพิ่มพูนกระบวนการคิด ความรู้ให้กับผู้เรียนมากขึ้น ในขณะเดียวกันการจัดการจำลองธุรกิจทางการศึกษายังเป็นการช่วยวิเคราะห์และพัฒนาธุรกิจสำหรับเพื่อนร่วมชั้นเรียนในการนำไปใช้จริงได้อีกด้วย การเลือกการจัดการจำลองทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กในครั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญมากในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นตัวช่วยสะท้อนภาพเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเหล็กมีความจำเป็นต่อกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่มีส่วนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจ อาทิอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นอุตสาหกรรมเหล็กที่เข้มแข็งและสามารถอยู่รอดจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศต่อไป

อนันต์ ปทุมธานี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link