สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ ลงพื้นที่รณรงค์ยุติธุรกิจการจับสัตว์เพื่อปล่อย

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ ลงพื้นที่รณรงค์ยุติธุรกิจการจับสัตว์เพื่อปล่อย..

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2562 ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทย (TSPCA) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ลงพื้นที่วัดบางช้างใต้ ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม วัดโพธิ์ลังกา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และ วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อถวายป้ายรณรงค์ มติมหาเถรสมาคม เรื่องการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการปล่อยสัตว์ในวัด และป้ายรณรงค์ปล่อยนก บุญ หรือบาป? ในโอกาสนี้ได้เข้ากราบสักการะพระครูไพศาลกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี เพื่อถวายป้ายรณรงค์อีกด้วย

สำหรับการจับสัตว์เพื่อมาปล่อยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แม้การปล่อยสัตว์จะเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา ที่ถูกยึดโยงกับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา แต่วิธีการจับสัตว์เพื่อมาปล่อย ก็เป็นการสนับสนุนวงจรธุรกิจค้าชีวิต ซึ่งจะนำมาสู่การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์โดยไม่สมควร

จากการศึกษาและการจัดทำข้อมูล ของทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทย พบว่าเฉพาะวงจรการค้าหรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับการจับสัตว์มาปล่อยตามความเชื่อ (ปล่อยเพื่อให้ได้บุญ) นั้น ปีหนึ่งๆ จะมีมูลค่าวงจรการธุรกิจ หลาย 100 ล้านบาท ซึ่งการทำธุรกิจดังกล่าว จะแพร่กระจายไปตามวัดที่มีชื่อเสียงและสถานที่สำคัญทางพระ พุทธศาสนาสำคัญๆ ทั่วประเทศ แม้ในปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ได้กำหนดห้าม ในการล่า การครอบครองและการค้า สัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง ซึ่งถ้าผู้ฝ่าฝืน ตามมาตรา 16,19,20 ประกอบมาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดจริงจังเท่าที่ควร และสัตว์บางชนิดก็ไม่ได้รับรองครอบคลุมคุ้มครอง ซึ่งก็ไม่สมควรจะต้องถูกทรมานเช่นเดียวกัน จากสถิติธุรกิจการจับสัตว์มาเพื่อปล่อย เฉพาะการจับนกในธรรมชาติเพื่อมาปล่อย นั้นในประเทศกัมพูชา เฉพาะกรุงพนมเปญ เมืองเดียวในระยะเวลา 13 เดือน มีการค้าเพื่อปล่อยนก ไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัว และพบว่านกอีก 57 สายพันธุ์ ที่ถูกจับอยู่ในกรงใกล้สูญพันธุ์ ในฮ่องกง พบว่าวัดพุทธในฮ่องกง มีการปล่อยนกไม่ต่ำกว่า 580,000 ตัวต่อปี สำหรับภูมิภาคเอเชียทั้งหมด คาดว่ามีการค้าและปล่อยนกตามธรรมชาติ ไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านตัวต่อปี สำหรับประเทศไทย เรามักนิยมปล่อยกลุ่มนกกระติ๊ด ซึ่งมีขนาดตัวเล็กเป็นที่นิยมมาก เพราะสามารถจับได้ครั้งละเป็นร้อยเป็นพันตัว ไม่กินพื้นที่กรง ถึงแม้จะตายง่ายสักหน่อย วิธีการจับก็คือการหว่านแห ในทุ่งนา ที่นกเหล่านี้รวมกลุ่มกัน เมื่อติดแหก็ต้องปลดและแกะออก นกจำนวนหนึ่งก็ต้องตาย เมื่อขนส่งก็ต้องตายอีกด้วยระยะทาง อากาศ อาหาร และเมื่อใส่กรงรอคนปล่อยก็ต้องตายกว่าจะได้ปล่อยอีก โดยนก 100 ตัว ที่จับได้อาจจะได้รับอิสรภาพเพียง 10 ตัว หลังจากนั้นนกเหล่านั้นอาจตายทั้งหมด ด้วยสภาพป่าสู่เมือง และที่น่าเศร้าสลดใจ คือลูกนกที่อยู่ในรัง รอแม่หาอาหารมาให้ เมื่อแม่โดนจับ ลูกก็อดตายหมดทั้งรัง สำหรับสัตว์อื่นที่มีการจับตามธรรมชาติเพื่อมาสู่ธุรกิจเพื่อปล่อย เช่น เต่า หอยขม ปลาไหล ฯลฯ ก็อาจจะทำบุญที่ทารุณสัตว์เช่นกัน เพราะหากปล่อยเต่าในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะหรือปล่อยเต่าในน้ำกร่อยตาเต่าจะค่อยๆ บอดและก็จะตายไปในที่สุด หอยขมต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะ เช่น บึงคลอง ไม่ใช่แม่น้ำ ปลาไหลก็เช่นกัน อยู่ไม่รอดเช่นกันในน้ำเชี่ยวไหลแรง และสำหรับปลาที่จับตามธรรมชาติ หรือซื้อจากท้องตลาดและปล่อยในแม่น้ำก็เช่นกัน ต้องระวัง เพราะปลาอาจจะน็อคในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้ ดังนั้นเราไม่ควรที่จะแสวงหาผลกำไรที่เกิดจากการทรมานสัตว์ และควรยุติการทำลายสัตว์ตามธรรมชาติ รบกวนวงจรชีวิตและความสงบสุขของพวกเขา จึงควร “ยุติธุรกิจการจับสัตว์เพื่อปล่อย” โดยทางสมาคมฯ มีแนวทางปฏิบัติและวิธีการดังต่อไปนี้ คือ การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ การจับสัตว์ตามธรรมชาติเพื่อมาปล่อย ผ่านรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดทำโปสเตอร์ คู่มือแนวทาง สื่อการรณรงค์รูปแบบต่างๆมีมาตรการควบคุมพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการจับสัตว์ตามธรรมชาติเพื่อมาปล่อย โดยเสนอให้อำนาจราชการส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการดูแลรับผิดชอบเพิ่มขึ้น และในพื้นที่วัดควรจะปฏิบัติ ตามมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 19/2561 เรื่องการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการปล่อยสัตว์ในวัด อย่างเคร่งครัด มีการสร้างเครือข่ายการรับรู้และการมีส่วนร่วม รวมทั้งมีการบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังการกระทำความผิดที่เกี่ยวการจับสัตว์ตามธรรมชาติมาเพื่อปล่อย เช่น การประสานงานร่วมกันระหว่างศูนย์รับข้อร้องเรียน (Hotline) ให้คำปรึกษาเฝ้าระวังและแจ้งเหตุ ของหน่วยงานต่างๆ ใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างจริงจัง ดำเนินการทางกฎหมายในกรณีตัวอย่างให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมีการติดตามประเมินผล รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดี เพื่อเป็นตัวอย่างให้สาธารณชนรับทราบอย่างเป็นระยะ “ถ้าไม่มีการซื้อหรือการจ่ายเงินเพื่อปล่อย สัตว์ที่ถูกจับเหล่านี้ ก็ไม่มีการจับมาเพื่อเสนอขายอย่างแน่นอน ดังนั้นควรปล่อยให้นกอยู่บนฟ้า ปลาอยู่ในน้ำ ตามวิถีชีวิตตามธรรมชาติ ของสัตว์นั่นแหละเป็นการดีที่สุดแล้ว”

ผ่านเลนส์ 005~รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link