สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร จับกุมเมล็ดโกโก้ กว่า 200 ตัน

วันที่ 18 มิถุนายน 2562 สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร จับกุมเมล็ดโกโก้ (COCOA) กว่า 200 ตัน ที่ท่าเรือเอกชน บริษัท แอคทูลั่ม จำกัด (สหไทยเทอร์มินอล) ส่วนบริการศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 เวลา 13.30 น. รวมมูลค่าประมาณ 16.68 ล้านบาท
ตามที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายด้านการควบคุมทางศุลกากร เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงมอบหมายให้ นายบุญเทียม โชควิวัฒน รองอธิบดีกรมศุลกากร นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และนายกรณ์ชัย ปัญญาวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร มุ่งเน้นการปราบปราม การลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าที่สำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเกษตร นั้น
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนและปราบปราม กองสืบสวนและปราบปราม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการศุลกากรที่ ๒ ส่วนบริการศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ ร่วมกันตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ท่าเรือเอกชน บริษัท แอคทูลั่ม จำกัด (สหไทยเทอร์มินอล) ส่วนบริการศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็น เมล็ดโกโก้ (COCOA) ไม่มียี่ห้อ บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 40 ฟุต ทั้งหมด 8 ตู้ จำนวน 3,099 กระสอบ น้ำหนักสุทธิ 201,435.00 กิโลกรัม มูลค่ารวม 16,680,099.13 บาท ประเทศกำเนิด Republic of Cote d’Ivoire ยกเว้นอากร โดยขอใช้สิทธิส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร (Re-Export) จากผลการตรวจของด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ แจ้งว่าไม่อนุญาตให้นำเมล็ดโกโก้เข้ามาในราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นสิ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การนำเข้าเมล็ดโกโก้เพื่อการค้า จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช ต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จ และนำของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบกับมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และ พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 และ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช และพาหะจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2550 ลงวันที่ 26 เมษายน 2550 และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง สิ่งต้องห้ามที่ผ่านการวิเคราะห์
ความเสี่ยงศัตรูพืช พ.ศ. ๒๕๖๒ ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link