“ จังหวัดอุบลฯ ยกระดับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ห้ามนำเข้าสุกรจาก สปป.ลาว ”

รายงานพิเศษ…. “ จังหวัดอุบลฯ ยกระดับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ห้ามนำเข้าสุกรจาก สปป.ลาว ”
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชานี ได้แจ้งเตือนมายังเกษตรกร ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชานีและจังหวัดใกล้เคียง เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ในเขตพื้นที่แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมาตรการป้องกัน ควบคุมเฝ้าระวังโรดังกล่าว ไม่ให้แพร่ระบาดมาสู่ประเทศไทยตามแนวชายแดนในขณะนี้
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) เป็นโรคระบาดสำคัญที่เกิดกับสุกร ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา ตัวเชื้อทนต่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ หากสุกรติดโรคแล้วจะมีอัตราการป่วยและการตายสูง ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตสุกร สัตว์ป่วย ติดเชื้อ จะมีอาการ มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกรอยช้ำที่ใบหู ท้อง ขาหลัง ป่วยทั้งคอกและตายทุกช่วงอายุ อาจพบอาการระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารหรือแท้ง
ปัจจุบันมีรายงานการเกิดโรค ในหลายประเทศทั่วโลก ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานพบเชื้อที่ประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา และ ล่าสุดวันที่ 20 มิถุนายน 2562 องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้รายงานพบการแพร่ระบาดของโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในเขตพื้นที่แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 7 แห่ง มีสุกรป่วยตายรวม จำนวน 973 ตัว ซึ่งพื้นที่จุดเกิดโรค มีระยะห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 170 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงสูงที่การแพร่ระบาดของโรค ASF จะเข้ามาสู่ประเทศไทยตามเส้นทางแนวชายแดน สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าว ถึงแม้จะตรวจพบสารพันธุกรรมโรค ASF ในผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มาจากคนนำติดตัวมาจาก ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค ASF แต่ถูกตรวจยึดและทำลายก่อนแพร่ระบาดถึงสุกร
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือ ในกรณีผู้ที่เดินทางไปศึกษาดูงานหรือไปทำงานในฟาร์มสุกรในประเทศที่เกิดการระบาดและมีความเสี่ยงสูงที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อเดินทางกลับมาในพื้นที่ประเทศไทยขอให้งดเข้าฟาร์มเลี้ยงสุกรไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงอาหาร สถานประกอบเลี้ยง ให้งดจำหน่าย จ่าย แจก เศษอาหารเหลือจากการรับประทานให้ผู้ที่นำไปเลี้ยงสุกรเพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชานี กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี ข้อมูลล่าสุดปี 2562 มีสุกรที่ขึ้นทะเบียนสัตว์ในพื้นที่ จำนวน 166,499 ตัว เกษตรกร ผู้เลี้ยงทั้งหมด 8,155 ราย และยังไม่มีรายงานการพบโรคหรือตรวจพบสารพันธุกรรมโรค ASF จากผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่อย่างใด อีกทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดอุบลราชานี โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดโรคฯในเบื้องต้นได้วางมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกร ซาก หรือผลิตภัณฑ์ เข้า ออก หรือภายในพื้นที่ตามระเบียบปฏิบัติของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัดโดยตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนตามแนวจุดผ่านแดน จำนวน 8 แห่งของ 10 อำเภอชายแดน คือ 1. จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก 2.จุดผ่านแดนถาวรปากแซง 3.จุดผ่อนปรนหน้าด่านศุลกากรเขมราฐ 4.จุดผ่อนปรนบ้านสองคอน 5.จุดผ่อนปรนบ้านด่านเก่า 6.จุดผ่อนปรนช่องตาอู 7.จุดผ่อนปรนช่องอานม้าและ 8.ท่าข้ามประเพณีคันท่าเกวียน โดยมีผลการการตรวจยึด ทำลาย สัตว์ ซากหรือผลิตภัณฑ์ จากสุกร จากการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันของด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ กรมการปกครอง ทหาร ตำรวจ ด่านศุลกากรและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – 20 มิถุนายน 2562 ดังนี้ 1.ลูกสุกรมีชีวิต จำนวน 1 ตัว(เมื่อ 14/3/2562 ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านปากแซง) 2.เนื้อสุกร/ชิ้นส่วนสุกรแช่เย็น ยึดอายัดทั้งหมด 26 ครั้งรวม 27.7 กก. 3.ประเภทผลิตภัณฑ์จากสุกร (แหนมสุกร กุนเชียง ไส้อั่ว ไส้กรอก เนื้อสุกรปรุงสุกและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรอื่นๆ) ยึดอายัดทั้งหมด 126 ครั้ง รวม 162.2 กก. รวมจำนวนทั้งสิ้น 245 ชิ้นส่วน พร้อมได้ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อ ASF ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ก่อนทำลายตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ซึ่งผลตรวจตอบกลับมาแล้วไม่พบเชื้อ ASF ทุกตัวอย่างที่ส่งตรวจ
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรอย่าได้ตระหนกและขอให้มั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของศูนย์ฯและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันโรคฯไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของจังหวัดอุบลฯ รวมทั้งขอย้ำให้เกษตรกรยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที มาเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการสุกร อย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วยตามกล่าวข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดอุบลราชธานีหมายเลขโทรศัพท์ 0-4525-5005 หรือ แอพพลิเคชัน กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

กิตติภณ เรืองแสน / รายงาน.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link