นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ กรณีภัยจากคลื่นสึนามิ พ.ศ. 2562 (IDMEx2019)

นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ กรณีภัยจากคลื่นสึนามิ พ.ศ. 2562 (IDMEx2019)

วันนี้ (8 ก.ค.62) เวลา 13:30 น. ที่ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เข้าตรวจเยี่ยมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ กรณีภัยจากคลื่นสึนามิ พ.ศ. 2562 (IDMEx2019) ซึ่งเป็นการบูรณาการฝึกระหว่างหน่วยงานพลเรือน ทหาร จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเผชิญเหตุสาธารณภัยของภาครัฐ และมีความพร้อม ในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กำหนดให้มีการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการในพื้นที่ต่าง ๆ
การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ กรณีภัยจากคลื่นสึนามิ พ.ศ. 2562 ดำเนินการระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) และกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) แนวคิดการฝึก กำหนดให้เป็นการฝึกการจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ภายใต้สถานการณ์สมมติกรณีการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลกลางมหาสมุทรอินเดียทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เคลื่อนตัวเข้ากระทบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และคลื่นมีความสูงไม่น้อยกว่าคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้น

สำหรับการฝึกฯ ในวันนี้ มีกำลังพลจากทุกหน่วยงาน และจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ร่วมฝึกซ้อมกว่า 1,000 นาย โดยเป็นการฝึกปฏิบัติ (Drill) รวม 6 สถานี ได้แก่ 1) การจัดการศูนย์พักพิงรองรับผู้อพยพ โดยจัดกิจกรรมเน้นหนักสันทนาการเพื่อบรรเทาความกังวลของผู้ประสบภัย ครอบคลุมทั้งการฝึกอาชีพ การศาสนา และอาหารน้ำดื่ม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสาร 2) การค้นหาและช่วยเหลือผู้ติดค้างในพื้นที่เข้าถึงยาก โดยบูรณาการหน่วยงานเข้าช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัยทั้งบนบก โดย หน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ ต่าง ๆ และในทะเล โดยอากาศยาน เรือหลวงศรีราชา และเรือ จากทัพเรือภาคที่ 3 ตำรวจน้ำ และองค์กรต่าง ๆ 3) การปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินเหล่าทัพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต 4) การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่เกิดเหตุและใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการสื่อสาร ประสานงาน สั่งการ โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมาคม และมูลนิธิกู้ภัยต่าง ๆ 5) การจัดการทรัพยากรปฏิบัติการ ณ จุดระดมทรัพยากร และ 6) จิตอาสาในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่การบรรเทาสาสาธารณภัยในด้านต่าง ๆ ทั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ การค้นหาและกู้ภัย การแพทย์และการสาธารณสุข การอพยพและการจัดการศูนย์พักพิง
ทั้งนี้ การฝึก IDMEx 2019 ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมให้หน่วยงานทุกภาคส่วนมีความเข้าใจบทบาทภารกิจ ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการเฉพาะด้าน อีกทั้งยังเป็นการค้นหาปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อน และปัจจัยแห่งความสำเร็จ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการจัดการภัยจากสึนามิ รวมถึงเป็นต้นแบบการต่อยอดการจัดการในภาวะฉุกเฉินของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 8 ก.ค. 2562

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link