กรมศุลกากรแถลงข่าวประจำเดือน กรกฎาคม 2562

วันนี้ (วันที่ 9 สิงหาคม 2562) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวกรมศุลกากร ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายดำเนินการงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ตลอดจนนโยบายและโครงการต่างๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่ประชาชนสนใจในขณะนี้ ได้แก่ 1. การจัดเก็บรายได้ ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 และในปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561- กรกฎาคม 2562)
2. กรมศุลกากรผลักดันการใช้ระบบ e-Bill payment เพื่อรองรับระบบการรับชำระเงิน อิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบายรัฐบาล (National e-Payment) 3. ผลการจับกุมประจำเดือนกรกฎาคม 2562 และมาตรการการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร น้ำมันปาล์ม น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอื่นๆ 4. การจัดทำระเบียบพิธีการศุลกากรสำหรับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในเขตพื้นที่ EEC โดยมีรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. การจัดเก็บรายได้กรมศุลกากร ประจำเดือนกรกฎาคม 2562
สำหรับเดือนกรกฎาคม 2562 กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บรายได้ รวมทั้งสิ้น 48,002 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 914 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 แยกเป็นรายได้ศุลกากร จำนวน 9,378 ล้านบาท และรายได้ที่จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น จำนวน 38,624 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่ลดลงนั้น เป็นการลดลงในส่วนของรายได้ที่กรมฯ จัดเก็บให้หน่วยงานอื่น
ในส่วนของรายได้ศุลกากร จำนวน 9,378 ล้านบาท นั้น สูงกว่าประมาณการ จำนวน 1,178 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.4 และสูงกว่าปีก่อน จำนวน 808 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4 เนื่องจากมูลค่านำเข้าชำระอากรขยายตัวร้อยละ 7.5 โดยจัดเก็บอากรเพิ่มขึ้นจากสินค้ารถยนต์นั่ง หอม/กระเทียม รถยนต์โดยสาร ส่วนประกอบยานยนต์ และเครื่องยนต์ดีเซล
สำหรับการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่นเก็บได้ จำนวน 38,624 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 1,722 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 โดยจำแนกเป็น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ จำนวน 26,801 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน จำนวน 1,251 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.5 เป็นการจัดเก็บลดลงในประเภทสินค้าน้ำมันดิบ รถยนต์ขนส่งของ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และรถยนต์นั่ง
ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ จำนวน 8,041 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน จำนวน 302 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.6 เป็นการจัดเก็บลดลงในประเภทสินค้ารถยนต์ขนส่งของ รถยนต์นั่ง และบุหรี่
ภาษีเพื่อมหาดไทย จัดเก็บได้ จำนวน 3,782 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน จำนวน 169 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.3
ทั้งนี้ ช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ต.ค.61 – ก.ค.62) กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ จำนวน 499,646 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,453 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.4 แยกเป็นรายได้ศุลกากร 91,109 ล้านบาท และรายได้ที่เก็บให้หน่วยงานอื่น 408,537 ล้านบาท โดย มีรายละเอียดดังนี้

การจัดเก็บรายได้ศุลกากร จำนวน 91,109 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,909 ล้านบาท (ประมาณการ 83,200 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 9.5 และสูงกว่าปีก่อน จำนวน 978 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.1 โดยจำแนกเป็น
อากรขาเข้า จัดเก็บได้ 89,383 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,253 ล้านบาทหรือร้อยละ 10.2
อากรขาออก จัดเก็บได้ 177 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 92 ล้านบาทหรือร้อยละ 1.1 เท่า
ค่าธรรมเนียม จัดเก็บได้ 1,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 436 ล้านบาทหรือร้อยละ 22.0
สำหรับรายได้ที่กรมศุลกากรจัดเก็บให้หน่วยงานอื่นเก็บได้ จำนวน 408,537 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน จำนวน 15,475 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 โดยจำแนกเป็น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 276,924 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 11,082 ล้านบาทหรือร้อยละ 4.2
ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 91,676 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 2,860 ล้านบาทหรือร้อยละ 3.2
ภาษีเพื่อมหาดไทย จัดเก็บได้ 39,937 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 1,532 ล้านบาทหรือร้อยละ 4.0
ทั้งนี้ ใน 2 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ2562 กรมศุลกากรยังคงดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่ออุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรจะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ และสูงกว่าคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง โดยการจัดเก็บรายได้อาจใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่าอาจได้รับผลกระทบจากมูลค่าการนำเข้าที่อาจหดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงการชะลอตัวของภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม

2. กรมศุลกากรผลักดันการใช้ระบบ e-Bill Payment เพื่อรองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
ตามนโยบายรัฐบาล (National e-payment)
ด้วยรัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (National e-payment) ทั้งในด้านการเบิกจ่าย และการรับชำระเงิน อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลังภาครัฐเพื่อให้รองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment ตาม ข้อ 78 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 โดยประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
กรมศุลกากรได้มีประกาศกรมศุลกากร ที่ 9/2562 ลงวันที่ 10 มกราคม 2562 เปิดใช้ระบบการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารหรือตัวแทนรับชำระ หรือ “ระบบ e-Bill Payment” ซึ่งผู้ประกอบการ สามารถชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารและตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการกับกรมศุลกากรได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั่วไทย โดยผู้ชำระอากรสามารถใช้ใบขนสินค้า ที่มี QR Code Barcode หรือเลขที่อ้างอิง ไปชำระผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร ได้แก่ Internet Banking Mobile Banking ATM และเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือชำระที่จุดให้บริการรับชำระของตัวแทนรับชำระ (Non-bank) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบ e-Tracking

ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้เช็คธนาคาร และการเดินทางเพื่อมาติดต่อราชการกับกรมศุลกากร ได้ถึง 334.37 บาท ต่อ 1 ใบขนสินค้า หรือปีละ 286 ล้านบาท และจากสถิติการใช้ระบบ e-Bill Payment ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินด้วยตนเอง เป็นจำนวน 1,373,988 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 99.91 ของจำนวนใบเสร็จรับเงินที่รับชำระด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
ระบบ e-Bill Payment มีธนาคารเข้าร่วมโครงการในระยะแรก 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ และมีตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการ คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม 7-eleven และขณะนี้มีธนาคารและตัวแทนรับชำระเข้าร่วมโครงการกับกรมศุลกากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 นี้ กรมศุลกากรจะจัด พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Bill Payment) โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารและตัวแทนรับชำระ ระหว่างกรมศุลกากร กับธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท
บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และจะมีการทำความตกลงกับธนาคารและตัวแทนรับชำระอื่นๆ ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ ธนาคารธนชาต ธนาคารแบงก์ ออฟ ไชน่า เป็นต้น ซึ่งกรมศุลกากรจะได้มีการแถลงข่าวในโอกาสต่อไป

3. การป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร น้ำมันปาล์ม น้ำมันเชื้อเพลิง และผลการจับกุมประจำเดือนกรกฎาคม 2562 และในปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561- กรกฎาคม 2562)
ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา Cites โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 กรมศุลกากรพบการกระทำความผิด 2,778 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 393.67 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบถึงร้อยละ 74.7 โดยสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าในเดือนกรกฎาคม ปีงบประมาณ 2562 อาทิ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน เป็นต้น

สำหรับผลการตรวจยึดสินค้ากรณีความผิดลักลอบและหลีกเลี่ยง ปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – กรกฎาคม 2562) กรมศุลกากรสามารถจับกุมการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรได้ทั้งสิ้น 26,321 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.23 พันล้านบาท เป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ ร้อยละ 69.87 ซึ่งสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงในช่วงเดือนตุลาคม – กรกฎาคม ปีงบประมาณ 2562 อาทิ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน

บุหรี่ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงในช่วงเดือนตุลาคม – กรกฎาคม ปีงบประมาณ 2562 อาทิ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน เป็นต้น
หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องของกรมศุลกากร สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมศุลกากร หรือสำนักงานศุลกากรทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งกรมศุลกากรจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ

4. การจัดทำระเบียบพิธีการศุลกากรสำหรับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตพื้นที่ EEC
1. การจัดทำระเบียบพิธีการศุลกากรสำหรับเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นในการนำสินค้าไทยไปขายยังต่างประเทศผ่านทางแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในเขตปลอดอากรจะนำมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการทุกรายที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นการทั่วไป มิได้นำไปบังคับใช้เฉพาะผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเท่านั้น
2. การดำเนินการในเขตปลอดอากรสำหรับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะมีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมทางศุลกากร เช่น การตรวจสอบสินค้าด้วยระบบเอกซเรย์บนสายพานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การควบคุมขนส่งสินค้าด้วยระบบ e-Lock และการจัดเก็บข้อมูลของสินค้าด้วยระบบระบุตัวตนของสินค้า (QR Code) รวมถึงการจัดทำระบบบัญชีสินค้าคงคลังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Inventory)
3. การยกเว้นภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เป็นเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดและบังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน

@$,ข่าว เจาะลึกฯ/.นครบาล/..รายงานกรมศุลฯ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link