ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี แหล่งผ้าทอลายจวนปัตตานี ตามรอยแกะสลักต้นตะเคียนยักษ์ 300 ปี

ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี แหล่งผ้าทอลายจวนปัตตานี ตามรอยแกะสลักต้นตะเคียนยักษ์ 300 ปี บ้านตรัง ชื่อนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยที่มีการปกครองแบบหัวเมือง มีเมืองยะหริ่ง อยู่ในความดูแลของพระยายะหริ่ง ครั้งหนึ่งพระยายะหริ่งได้ยกไพร่พลมาตั้งค่าย ให้เห็นที่บ้านรายอ แปลว่า “พระยา” และพื้นที่บ้านรายอนี้ เมื่อพระยายะหริ่งมาตั้งค่ายมีการทำนา เลี้ยงวัว ม้า ควาย จำนวนมาก เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวได้นำวังข้าวมากองไว้ บริเวณหมู่บ้านและในเขตนี้จะเรียกว่า หมู่บ้านซัง ซึ่งต่อมาคำว่า “ซัง” ได้เพี้ยนมาเป็นคำว่า ตรัง จนถึงปัจจุบันชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองปัตตานี ประมาณ 30 กิโลเมตร จัดตั้งขึ้นตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพิ่มขีดความสามารถชุมชนด้านการท่องเที่ยว อันเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ ให้กระจายอยู่กับประชาชนในหมู่บ้าน บนพื้นฐานเสน่ห์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน และประชาชนมีความสุข จุดสำคัญ คือ วัดบ้านตรัง เป็นวัดเก่าแก่ราว 300 ปี เป็นโบราณสถานที่มากด้วยคุณค่า ทางประวัติศาสตร์และความศรัทธาของคนบ้านตรัง ไม่ว่าจะเป็นวิหารหลวงพ่อสุข หลวงพ่อปลอด โบสถ์โบราณที่ได้รับการบูรณะแล้ว อาคารเก็บสรีระสังขารของพระครูมงคลประภาส หรือ พ่อแก่เจ้าแสง อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง และการแสดงประติมากรรมต่าง ๆ ผ่านเรื่องราวของชุมชน คงความงดงาม ให้คงอยู่คู่กับลูกหลาน นายวันนะ ไชยแก้ว ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านตรัง บอกว่าชุมชนแห่งนี้มีสิ่งดี ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสมากมาย โดยเฉพาะต้นตะเคียนแกะสลักกว่า 300 ปี เล่าเรื่องราวพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน 14 ตอน และเรื่องราวชุมชน 1 ตอน แกะสลักด้วยความวิจิตรบรรจง มีความยาว 25 เมตร ที่ดูสวยงามตระการตา น่าเกรงขามถือเป็นงานศิลปะพุทธบูชา เป็นอันซีนแหล่งท่องเที่ยวของชาวพุทธทั่วประเทศ ประกอบกับ ผ้าทอลายจวนตานี หัตถศิลป์บนผืนผ้าไหมประดิษฐ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านตรัง จากอดีตสู่ปัจจุบันมรดกแห่งภูมิปัญญา ด้วยการสืบสานตำนานเส้นสายจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว ของดีที่ใคร ๆ ต้องมีไว้ ด้วยความโดดเด่นของลวดลายที่บอกถึงเรื่องราววิถีชีวิตของคนบ้านตรัง มี 5 ลาย ได้แก่ ลายกอซัง ลายก้นหอย ลายปักเป้า ลายดอกศรีตรัง และลายโคมไฟ แต่ละลายมีแถบสีคั้นอยู่ 7 สี 7 เส้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านตรัง บ้านตรัง อำเภอมายอ ยังมีหัตถกรรมประดิษฐ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน ผ่านก้านมะพร้าว ทีละก้านผูกมัดจักสานด้วยความชำนาญ จัดรูปแบบให้เป็นภาชนะรูปทรงต่าง ๆ หลากหลายประโยชน์ใช้สอย ภูมิปัญญาแห่งวิถีชีวิตของปราชญ์ประจำถิ่น เป็นของฝากของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวที่ได้ไปสัมผัส และกินอะไรก็ดีที่บ้านตรัง ข้าวก็มี ปลาก็มี แกงสมรมกับต้มเดือนสิบ ทานคู่กันอร่อยสุดๆ ถือเป็นอาหารประจำถิ่นของคนปักษ์ใต้ แกงสมรมทำจากเครื่องแกงเคี่ยวกับกะทิ ใส่ผักริมรั้ว ยั่วให้หิวไม่ใช่น้อย เคี่ยวจนเครื่องแกงหอม เสิร์ฟพร้อมข้าวต้มสามเหลี่ยม เนื้อแน่นมัน แกงคั่วลูกโหนดกับข้าวสวยหอมใบเตยร้อน ๆ ทานคู่กับปลาทอดขมิ้นกรอบ น้ำพริกผักสด มื้อนี้คงไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

วิชิต เพชรยอด ปชส.ปัตตานี ภาพ/ข่าว

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link