ราชบุรี ข่าว – น.อ.ทองย้อย ขานรับภาคภูมิใจแต่งกาพย์เห่เรือ 2 รัชกาล

ราชบุรี ข่าว – น.อ.ทองย้อย ขานรับภาคภูมิใจแต่งกาพย์เห่เรือ 2 รัชกาล

อดีตทหารเรือชาวราชบุรี เผยภาคภูมิใจแต่งกาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค รัชกาลที่ 9 ต่อมากองทัพเรือมอบหมายให้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ซึ่งจะมีการเสด็จเลียบพระนคร มีแนวคิดเปิดสอนเยาวชนแต่งกาพย์ โคลง กลอนสืบสานศิลปะ แต่ยังขาดผู้สืบทอด

วันที่ 1 ต.ค.62 นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/2 ซอย 1 ถนนเขางู ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ผู้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค กล่าวถึงความภาคภูมิใจในการได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือ ให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ว่า ก่อนหน้านี้ทางกองทัพเรือได้มอบหมายให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในรัชสมัย รัชกาลที่ 9 เสวยพระราชสมบัติ ครบ 50 ปี สมัยนั้นยังรับราชการเป็นทหารเรือในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือในชั้นยศนาวาโท ทางกองทัพเรือเตรียมโครงการเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษก มี 2 โครงการหลักที่จำได้แม่น คือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่งองค์ใหม่แทนองค์เดิม และโครงการจัดกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค

ทั้งนี้กาพย์เห่เรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค อดีตจะมีประชาชนตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ มีการสัญจรทางเรือเป็นหลัก แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินเวลาเสด็จพระราชดำเนินก็จะต้องไปทางเรือ จึงมีกระบวนเรือหลายลำเป็นขบวนใช้แรงคนในการพายเรือ ต่อมาทำให้เกิดการร้องเพลงไปด้วยระหว่างพายเรือเพื่อไม่ให้เหนื่อย และเป็นสัญญาณความพร้อมเพรียงถือเป็นปฐมเหตุของการเห่เรือ ส่วนเพลงที่ร้องระหว่างเรือเคลื่อนขบวนนั้น จะนำมาจากคนที่สามารถแต่งกาพย์ยานีมาแต่งกาพย์เห่เรือ กาพย์เห่เรือหมายถึง โคลงสี่สุภาพ 1 บท และกาพย์ยานีอีกจำนวนหนึ่งแล้วแต่ความยาวจะพรรณนาเรื่องอะไรบ้าง โดยรวมโคลงสี่สุภาพและกาพย์ยานีเข้าด้วยกันเรียกว่ากาพย์เห่เรือ 1 บท ใช้ร้องในเวลาเรือเคลื่อนขบวน มีการนำเรื่องชมเรือ เรียกเป็นคำภายหลังว่า ชมเรือที่ไปกระบวน จะพรรณาความงามของเรือแต่ละลำ เช่น เรือสุพรรณหงส์งามอย่างไร นอกจากนี้ฝีพายที่พายเรือแต่งตัว รวมไปถึงท่าทางที่พายมีความพร้อมเพรียงอย่างไร ในการพรรณาชมกระบวนเรือ นอกจากชมความงามของเรือแล้ว ก็จะมีการพูดถึงการชมธรรมชาติระหว่างทาง กาพย์เห่เรือจะมีหน้าที่นำความงามเหล่านี้มาขับร้อง เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

โดยการแต่งกาพย์เห่เรือในกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นช่วงปลายพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนคร เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์เหมือนขึ้นกับวันใหม่ สดใส มีความสุขเหมือนกับรุ่งอรุณวันใหม่ช่วงเวลาที่จะมีความสุข เป็นการถ่ายทอดความจงรักภักดีออกมาเป็นกาพย์เห่เรือด้วยความสบาย ซึ่งกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตไทยที่ควรรักษาไว้เนื่องจากมีแห่งเดียวในโลก ซึ่งทั้งโลกให้ความชื่นชมยินดีกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ส่วนกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคมีทั้งหมด 52 ลำ มีเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2539 หรือปีกาญจนาภิเษกเรื่อยมา ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือ จากนั้นเมื่อจะมีกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค หรือการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือจัดขึ้นในโอกาสพิเศษคราวที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย เป็นต้น ทางกองทัพเรือก็จะมอบหมายให้ตนเองเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือทุกครั้ง ครั้งล่าสุดปี พ.ศ. 2555 ซึ่งได้เกษียณอายุราชการแล้ว กระทั้งสิ้นรัชกาลที่ 9 คิดว่าคงจะไม่มีกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในเร็วๆนี้หรอก แต่พอกำหนดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งตามรูปโบราณราชประเพณีจะมี 2 แนวทาง คือ เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งต้องมีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทางกองทัพเรือได้เตรียมงานล่วงหน้าอีก และได้มอบหมายให้ตนเองเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือ รัชกาลที่10 จึงประมวลแล้วว่า รัชกาลที่ 9 ก็เป็นผู้แต่งมาทุกครั้ง ถือได้ว่าตนเองเกิด พ.ศ. 2488 ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 8 สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2489 ตอนนั้นอายุได้ 2 ปี และทำงานอยู่ในรัชกาลที่ 9 จนมาถึงรัชกาลที่ 10 ถือเป็นคน 3 แผ่นดินของชีวิตที่เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือในพระราชพิธี

นาวาเอกทองย้อย ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อยากจะถ่ายทอดวิชาแต่งกาพย์เห่เรือไปยังลูกหลาน เคยปรึกษาเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี ว่าอยากจะเปิดการสอนศิลปะการเรียนกาพย์ กลอน โคลงให้แก่เด็กที่สนใจให้มาเรียนได้ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร อยากเรียนวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ก็ได้ ยินดีถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ฟรี ทุกคนจะได้ศิลปะได้ความรู้ติดตัวไป คนไหนมีพื้นฐานดีก็จะรับช่วงการแต่งกาพย์เห่เรือก็จะไม่ขาดสูญหายไป แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ที่จะสืบทอด..

สุจินต์ นฤภัย(เต้)

ลิ้งค์วีดีโอข่าว https://drive.google.com/file/d/15CIy3blCBaISWb4cgZBKdHnRnRbobip5/view?usp=sharing

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link