ศอ.บต. เผย ความคืบหน้าโครงการปลูกไผ่ 3 แสนไร่ คืบหน้า นายทุนต่างชาติเตรียมสร้างโรงงานรับซื้อ


ศอ.บต. เผย ความคืบหน้าโครงการปลูกไผ่ 3 แสนไร่ คืบหน้า นายทุนต่างชาติเตรียมสร้างโรงงานรับซื้อ
ขณะที่ สื่อดัง มาเลย์ ตีข่าว รัฐกลันตัน ส่งเสริมปลูกไผ่ดึง ทุนต่างชาติมาลงทุนทำเป็น อุตสาหกรรม
จากกรณีที่มีการเสนอข่าวเรื่องการส่งเสริมให้เกษตรกรใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ใช้พื้นที่รกร้างซึ่งมีอยู่ถึง 300,000 ไร่เศษ ทำการปลูกไผ่ โดยเฉพาะไผ่พันธุ์”ขุนพล” เพื่อขายให้กับ บริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้เดินทางมาทำเอ็มโอยู กับสภาเกษตรกร และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับซื้อไม้ไผ่ นำไปทำถ่านชีวมวล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงกับโรงไฟฟ้าในประเทศเกาหลีเหนือ ที่มีการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานชนิดอื่น มาเป็นพลังงานสะอาด คือถ่านชีวมวล ที่ผลิตจากไม้ไผ่ ซึ่งหลังจากมีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก
เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องการส่งเสริมการปลูกไผ่ เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ของเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ผู้ผลักดันโครงการ ได้เปิดเผยว่า เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้นว่า การปลูกไผ่เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ทำได้แน่และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตามแผนที่มีการนำเสนอ ขณะนี้บริษัทจากประเทศเกาหลีเหนือ ที่ได้ลงนามทำเอ็มโอยู ในการมาตั้งโรงงานในพื้นที่ เพื่อรับซื้อต้นไผ่จากเกษตรกรไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะสร้างโรงงาน 2 แห่ง ในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งขณะอยู่ระหว่างการเลือกสถานที่ ซึ่งเป็นที่ก่อสร้างโรงงาน
และจากการร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายของบริษัทเกาหลี นักวิชาการเกษตร สภาเกษตรฯ และอื่นๆ ได้ดำเนินการปลูกไผ่นำร่องในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา แล้ว 6,000 ไร่ โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นสวนไผ่ ที่ปลูกนำร่อง เพื่อเป็นการศึกษา ในข้อดี ข้อเสีย ต่างๆ การ ปลูก การบำรุง การเติบโต และ อื่นๆ เพราะการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่ในพื้นที่ 300,000 ไร่ จะต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เหมาะกับการใช้ในอุตสาหกรรมแต่ละด้าน โดยตั้งเป้าไว้ว่า จะมีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างน้อย 5 ชนิด เพื่อที่จะใช้ใน อุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
เช่นการขายให้กับโรงงานผลิตถ่านชีวมวลของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งต้องเป็นไผ่ที่ให้เนื้อไม้มาก ไผ่สำหรับการใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ นำฝาบ้าน ทำเครื่องใช้ต่างๆ ทำกรงนก ซึ่งต้องไผ่อีกแบบหนึ่ง และไผ่ที่ปลูก เพื่อกินหน่อ และใช้ประโยชน์อื่นๆ ก็เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง การส่งเสริมให้ปลูกจะต้องมีความหลากหลาย เพราะต้นไผ่ เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ใช้ประโยชน์ได้มากมาย
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง กระทรวงพลังงาน และ ครม. เห็นชอบแล้ว คือการเกิดขึ้นของ โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กกว่า 100 โรง ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด โรงไฟฟ้าเหล่านี้ ต้องใช้เชื้อเพลิงที่เป็นไม้ และในอนาคต ไม้ยางพาราก็ลดน้อยลง เพราะ ศอ.บต. ได้ส่งเสริมให้ เกษตรกรเปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการปลูกแบบผสมผสาน เช่นการปลูกกาแฟ ปลูกทุเรียน และพืชอื่นๆ แทนการปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต ดังนั้นต้นไผ่ หรือ ไม้ไผ่ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก จะเป็นเชื้อเพลิงที่ดีที่สุด ที่ส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่
วันนี้ อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิง ที่มีอยู่แล้ว 13 แห่ง ทั้งที่ จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างมีปัญหาเรื่องของเชื้อเพลิงที่จะนำไปใช้ในโรงงาน เพื่อการอบ การให้ความร้อน การส่งเสริมให้มีการปลูกไผ่ ในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นแนวทางที่ถูกต้อง มั่นคง ไม่ล้มเหลวเหมือกับ หลายๆโครงการในอดีต ที่ปลูกแล้วมีปัญหาในเรื่องตลาด หรือ ผู้ซื้อ เพราะไผ่ที่ปลูกในพื้นที่ ไม่ได้ขายให้กับ โรงงานชีวมวลของประเทศเกาหลีใต้อย่างเดียว แต่มีการขายให้กับโรงไฟฟ้า และขายให้กับผู้รับซื้อ ที่นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ รวมทั้งขายหน่อไผ่ ให้กับผู้ที่ต้องการอีกด้วย
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา สื่อมาเลเซีย นิวส์เสตรทไทม์ ได้ลงข่าวว่า คณะกรรมการป่าไม้ของประเทศมาเลเซีย “เดอะมาเลเชียน ทิมเบอร์ “ หรือ mtib จะจัดสรรปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ที่จะปลูกไผ่ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐาน ของประเทศมาเลเซีย ได้ส่งเสริมให้หาแหล่งวัตถุดิบที่เป็นไม้ โดยกระทรวงจะเน้นที่ไม้ไผ่ และ mtib จะ เป็นแหล่งทุนให้ ผู้สนใจทั้ง กลุ่มทุน และเกษตรกร รวมทั้งนักลงทุนจากต่างชาติ เข้ามาลงทุนในการปลูกไผ่เพื่ออุตสาหกรรม และนอกจากนั้น รัฐบาลท้องถิ่น ในรัฐกลันตัน เพื่อจัดสรรพื้นที่ในการปลูกไผ่ โดย เดอะเสตรท ไทม์ ยังได้รายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นที่ฐาน มาเลเซีย จะนำผู้แทนจากรัฐปาหัง -เปรัค เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือทางอุตสาหกรรม และหนึ่งในข้อหารือคือการลงทุนการปลูกไผ่เพื่ออุตสาหกรรม
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ก็ตื่นตัวในการแสวงหาเชื้อเพลิงจากการปลูกไผ่ เพื่อใช้เป็นพลังงาน และทำเป็นนโยบาย มีการเชิญนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อลงทุนเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงขอให้ เกษตรกรใน 3 จังหวัด เชื่อมั่นว่า โครงการส่งเสริมการปลูกไผ่ในที่รกร้าง 300,000 ไร่ เป็นโครงการที่เป็นไปได้ และไผ่คือพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่สามารถทดแทนพืชชนิดอื่น และเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกร อย่างแน่นอน

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link