อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายดำเนินการงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ

วันที่ 10 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ ลานประชารัฐ กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ

ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายดำเนินการงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ตลอดจนนโยบายและโครงการต่างๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่น่าสนใจซึ่งได้นำเสนอในครั้งนี้ ได้แก่ (1) การจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2562 (2) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำปีงบประมาณ 2562 และ (3) การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารและตัวแทนรับชำระ โดยมีรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ดังนี้

(1) การจัดเก็บรายได้กรมศุลกากร ประจำปีงบประมาณ 2562
ปีงบประมาณ 2562 ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ศุลกากรและรายได้ที่จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น พบว่า การจัดเก็บรายได้ศุลกากรจัดเก็บได้ 108,523 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (100,000 ล้านบาท) 8,523 ล้านบาทหรือร้อยละ 8.5 และสูงกว่าคาดการณ์ (108,000 ล้านบาท) จำนวน 523 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ การจัดเก็บอากรขาเข้าในปีงบประมาณที่ผ่านมายังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 แม้ว่าสถานการณ์การค้าโลกยังคงมีความเสี่ยงสูงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากก็ตาม
สำหรับในปีงบประมาณ 2562 สินค้านำเข้าที่จัดเก็บอากรได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนประกอบรถยนต์ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง รถยนต์โดยสาร

ด้านการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น กรมศุลกากรจัดเก็บได้จำนวน 479,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,330 ล้านบาทหรือร้อยละ 1.6 โดยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้จำนวน 326,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,088 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้จำนวน 106,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,531 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4


(2) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำปีงบประมาณ 2562
ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปราม
การลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรม
ในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร
พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา Cites โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
โดยในปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรได้ทั้งสิ้น 32,255 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,784 ล้านบาท เป็นจำนวนคดีจากการลักลอบร้อยละ 20.7 คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบร้อยละ 65.2 เป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยงร้อยละ 79.3 คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดผิดกรณีหลีกเลี่ยง ถึงร้อยละ 34.8 ทั้งนี้มีสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน และยาเสพติดประเภท โคคาอีน ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน รถยนต์ สำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก และยาเสพติดประเภท เคตามีน

(3) การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารและตัวแทนรับชำระ
ด้วยรัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ทั้งในด้านการเบิกจ่าย และการรับชำระเงิน อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลังภาครัฐเพื่อให้รองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment ตาม ข้อ 78 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 โดยประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
สำหรับกรมศุลกากรได้มีประกาศกรมศุลกากร ที่ 9/2562 ลงวันที่ 10 มกราคม 2562 เปิดใช้ระบบการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารหรือตัวแทนรับชำระ หรือ “ระบบ Bill Payment” โดยมีธนาคารเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 6 ธนาคาร 2 จุดรับชำระ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (7-eleven) ที่จะร่วมสร้างสังคมไร้เงินสดและมอบความสะดวกสบายให้ ผู้ประกอบการ สามารถชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารและตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการกับกรมศุลกากรได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั่วไทย โดยผู้ชำระอากรสามารถใช้ใบขนสินค้า ที่มี QR Code Barcode หรือเลขที่อ้างอิง ไปชำระผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร ได้แก่ Internet Banking, Mobile Banking, ATM, การชำระผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคาร รวมทั้งการชำระผ่านตัวแทนรับชำระ (Non-bank) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถ

พิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบ e-Tracking ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้เช็คธนาคาร และการเดินทางเพื่อมาติดต่อราชการกับกรมศุลกากร
สำหรับ ระบบ Bill Payment ที่กรมศุลกากรได้มีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน จะทำให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการสามารถลดค่าใช้จ่าย ได้ถึง 334.37 บาท ต่อ 1 ใบขนสินค้า หรือปีละ 286 ล้านบาท และจากสถิติการใช้ระบบดังกล่าวในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินด้วยตนเอง เป็นจำนวน 1,848,947 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 99.93 ของจำนวนใบเสร็จรับเงินที่รับชำระด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
และในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เวลา 12.30 – 16.30 น. กรมศุลกากรจะจัดงานเสวนา การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารและตัวแทนรับชำระ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยเชิญผู้ประกอบการ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ประกอบการธนาคารและตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการการรับชำระผ่านระบบ Bill Payment สมาคม สมาพันธ์ และหอการค้าต่างๆ สมาชิกพันธมิตรศุลกากร เข้าร่วมการสัมมนา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในระบบ Bill Payment ทำให้ผู้ประกอบการสนใจ เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการชำระผ่านระบบดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับด้านการประหยัดเวลาและการลดต้นทุน นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรให้ความรู้ในระบบดังกล่าวแล้ว ทางกรมฯยังได้เชิญตัวแทนจากธนาคารเข้าร่วมให้ความรู้และเปิดรับสมัครใช้บริการในคราวเดียวกันอีกด้วย

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link