ติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรการ EIA

ติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในซอยสุขุมวิท 101 และ 103 (ซอยอุดมสุข) เขตบางนา เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 38 ชั้น 9 อาคาร ในซอยอุดมสุข อาทิ ปัญหาการก่อสร้างในเวลากลางคืน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหามลภาวะทางเสียงและความสั่นสะเทือน การไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามแนวทาง การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบ ควบคุม และกำกับดูแลโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามข้อกำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) ประสานแจ้งหน่วยงานอนุญาต ประกอบด้วย สำนักการโยธาและสำนักงานเขต เพื่อให้เข้มงวดในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างเคร่งครัด 2) ให้เจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบการ จัดทำและนำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยรายงานฉบับประจำเดือน ม.ค. – มิ.ย. นำส่งภายในวันที่ 31 ก.ค. ของทุกปี ฉบับประจำเดือน ก.ค. – ธ.ค. นำส่งภายในวันที่ 31 ม.ค. ของปีถัดไป 3) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมฝุ่นละอองและเสียงใน EIA ซึ่งที่ผ่านมา คณะทำงานได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านฝุ่นละอองและเสียงอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าปฏิบัติไม่ครบถ้วนหรือไม่มีประสิทธิภาพจะแจ้งให้ปรับปรุงแก้ไขและรายงานผลมายังสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และสำนักงานเขต ภายในเวลาที่กำหนด สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 9 อาคาร บริเวณซอยสุขุมวิท 101 และ 103 (ซอยอุดมสุข) เขตบางนา สำนักสิ่งแวดล้อมจะประสานสำนักการโยธา และสำนักงานเขตบางนา เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ในปี 2563 จะขยายผลการติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA โดยครอบคลุมโครงการก่อสร้างที่ได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ตลอดจนป้องกันปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องจากผลกระทบจากการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการโยธา ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งทางโครงการฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแล้วบางส่วน และยังอยู่ระหว่างการเจรจาและทำข้อตกลงระหว่างโครงการฯ กับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ สำนักการโยธาและสำนักงานเขตบางนา ได้ร่วมกันตรวจสอบมาตรการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ และมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA พร้อมทั้งได้กำชับให้โครงการฯ ปฏิบัติตามข้อกำหนดใน EIA อย่างเคร่งครัด

นายณัฐสันต์ จันทเตมีย์ ผู้อำนวยการเขตบางนา กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตบางนาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง คือ กลุ่มผู้พักอาศัยในหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโครงการก่อสร้างฯ โดยหมู่บ้านดังกล่าว มีผู้ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างประมาณ 100 หลังคาเรือน ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ได้ทำการตกลงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 70 หลังคาเรือน เหลือประมาณ 30 หลังคาเรือนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้จัดให้มีการประชุมแก้ไขผลกระทบจากการก่อสร้าง ระหว่างเจ้าของโครงการฯ และผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างที่ยังไม่สามารถตกลงเยียวยาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องได้ยื่นข้อเสนอให้โครงการฯ พิจารณาค่าชดเชยจากการบดบังแสงแดด ทิศทางลม สัญญาณทีวี สัญญาณสื่อสาร เป็นระยะเวลา 50 ปี รวมทั้งค่าชดเชยบดบังทัศนียภาพ รวมเป็นเงินประมาณ 1,632,500 บาท ต่อหลัง ผู้อำนวยการเขตบางนา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้เข้าตรวจสอบควบคุมและกำกับดูแลโครงการฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างเคร่งครัด ซึ่งทางโครงการฯ ได้ส่งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระดับเสียง และความสั่นสะเทือน โดยบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระดับเสียง และความสั่นสะเทือนยังอยู่ในเกณฑ์และไม่เกินมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและประกาศของกรมควบคุมมลพิษ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link