ราชบุรี  – อธิบดีปศุสัตว์เปิดด่านพ่นน้ำยาป้องกันโรค ASF

วันที่ 12 พ.ย.62 ที่ด่านพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ต.ดอนกระเบื้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดด่านพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยมี น.สพ.ชุมพล บุญรอด ปศุสัตว์เขต 7 นางสุวดี ธีระสัตยกุล ตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี นายถาวร ปรพัฒนชาญ ตัวแทนสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด พร้อมสมาชิก เข้าร่วมพิธี โดยในการนี้ ทางสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด ได้มอบเครื่องพ่นโฟมน้ำยาฆ่าเชื้อให้แก่ด่านพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อดอนกระเบื้อง จำนวน 1 เครื่อง นอกจากนั้นตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเขต 7 ได้ยื่นหนังสือ “ขอให้พิจารณาประกาศเขตเฝ้าระวังโรคในจังหวัดที่ผลกระทบสูง” ให้กับอธิบดีดำเนินการพิจารณาอนุมัติอีกด้วย

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี และสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดสร้างด่านพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแก้ปัญหาโรค ASF ขึ้นจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ด่าน ต.ดอนกระเบื้อง อ.โพธาราม และด่านพระราม 2 อ.ปากท่อ ซึ่งนับเป็นด่านพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในประเทศแห่งแรก นอกจากนั้นจะจัดตั้งอยู่ตามด่านชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น สำหรับสาเหตุที่จำเป็นต้องจัดตั้งในจังหวัดราชบุรี เนื่องจากจังหวัดราชบุรี ถือว่าเป็นเมืองหลวงภาคกลางด้านปศุสัตว์ มีการเลี้ยงสุกรมากที่สุดของประเทศ มีสุกรหมุนเวียนกว่า 2 ล้านตัว โดยทางจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาด ASF เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ หากเกิดการแพร่ระบาดเข้ามา จะส่งผลกระทบถึงระบบสุกรทั้งประเทศ ดังนั้น รถบรรทุกขนย้ายสุกรทุกคัน จะต้องทำหนังสือขออนุญาตขนย้ายสุกร และขับเข้ามาพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อพร้อมรับใบผ่าน หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย

น.สพ.สรวิศ กล่าวต่อว่า ในส่วนของหนังสือ “ขอให้พิจารณาประกาศเขตเฝ้าระวังโรคในจังหวัดที่ผลกระทบสูง” ที่ตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเขต 7 ได้ยื่นมานั้น ทางตนจะได้นำเรื่องไปประสานยังผู้ว่าราชการ และปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมพิจารณา เนื่องจากหากประกาศแล้ว จะต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด อาจมีความไม่สะดวกเกิดขึ้น แต่จะมีส่วนช่วยป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งตนนั้นไม่ขัดข้องและยินดีอนุมัติให้ตามความต้องการ

ปัจจุบันสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรค แต่ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเสี่ยงสูง ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบของไทย ที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโรค โดยรัฐบาลได้ประกาศให้โรค ASF เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากในระบบของประเทศมีสุกกรกว่า 20 ล้านตัว มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งหากโรคเข้าประเทศมาได้ จะมีผลกระทบอย่างมหาศาล จึงมีการตั้งวอร์รูมทุกจังหวัดให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเข้มงวด ในส่วนของเกษตรกรได้มีการทำระบบความปลอดภัยชีวภาพ หรือ Bio Security เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าสู่ฟาร์ม

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณ 950 ล้านบาท เพิ่มเติม เพื่อรับมือการแพร่ระบาด และป้องกันความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตสุกร และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

สุจินต์ นฤภัย(เต้)

ลิ้งค์วีดีโอข่าว https://drive.google.com/file/d/1h3ZiebyG5XJy_av3IyBRYEpWagcPVIjz/view

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link