นครนายก – กษ. จัดงานพิธีรำลึก “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2562

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 07.00 น. นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เป็นประธานพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด เนื่องในงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2562

โดยมี
นางสาวปทุมพร กรสุทธิโสภณเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครนายก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมพิธีวันพระบิดาแห่งฝนหลวง
ณ หอประชุมสุพรรณิการ์ อาคารศูนย์อาหารปลอดภัยและนันทนาการบริการประชาชน จังหวัดนครนายก
จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2545 กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ให้ประชาชนและอนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี 2562 จังหวัดนครนายก ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครนายก กำหนดจัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด เนื่องใน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ในวันนี้จึงได้มีผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในจังหวัด รวมถึงนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมพิธีตามวันและเวลาดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงกันอีกด้วย
วันที่ ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี คือ “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งมีที่มา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และสภาพอากาศ
และในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงได้พระราชทาน โครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เป็นผู้รับสนองโครงการในพระราชดำริ โดยได้มีทีมในการกำกับดูแลร่วมมือกัน ระหว่าง ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว ในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คำแนะนำเพื่อให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าเพื่อหาทางสู่ผลสำเร็จที่สามารถใช้งานได้จริง
และเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ถือเป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry-Ice) โดยที่ยอดแอกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ ๑๕ นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่นๆ เช่น ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น
ด้วยความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อำพล เทียนงาม นครนายก

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link