แนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง – ผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดฝุ่น

แนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง – ผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดฝุ่น
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีมีการนำเสนอบทความเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ ระบุที่ผ่านมากรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจมฝุ่น สาเหตุหลักเกิดจากควันท่อไอเสียยานพาหนะ การก่อสร้างอาคาร การเผาไหม้ขยะ และโรงงานอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่า กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ยกระดับการแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิดอย่างเข้มข้น โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้พร้อมใช้งาน และตรวจสภาพเครื่องยนต์ตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนกำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อไม่ปฏิบัติงานหรือจอดรถรอรับ – ส่ง พร้อมทั้งให้รถราชการในสังกัด กทม. เข้ารับการตรวจวัดมลพิษทุก 6 เดือน หากพบมลพิษเกินมาตรฐานให้แก้ไขทันที อีกทั้ง ได้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือให้ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย รวมทั้งการควบคุมฝุ่นละอองจากกิจกรรมการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนั้น สำนักสิ่งแวดล้อม ยังมีแผนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาว และการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดฝุ่น โดยผลักดันให้ปรับปรุงมาตรฐานการระบายไอเสียรถยนต์และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เร่งรัดพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เพิ่มทางเลือกการเดินทางแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จัดหาพื้นที่จอดแล้วจร การเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. จากปัจจุบัน 6.9 ตารางเมตร/คน เป็น 10 ตารางเมตร/คน ในปี 2573 ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ขณะเดียวกัน ได้พิจารณามาตรการทางผังเมืองเพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ โดยวางผังเมืองด้วยแนวคิดเมืองกระชับ เพื่อให้มีที่อยู่ใกล้แหล่งงาน ลดระยะการเดินทาง ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางราง พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้พลังงานและลดมลพิษอีกด้วย

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link