ปลอดน้ำอัดลมในโรงเรียน ป้องกันโรคอ้วน – ภาวะทุพโภชนาการ

ปลอดน้ำอัดลมในโรงเรียน ป้องกันโรคอ้วน – ภาวะทุพโภชนาการ
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวผลการศึกษาของคลินิกต่อมไร้ท่อเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบสัดส่วนของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและวัยรุ่น เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 โดยสาเหตุที่เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเกิดจากพฤติกรรมบริโภคหวานและขนมในโรงเรียนว่า ที่ผ่านมา สำนักการศึกษา กทม. ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยสนับสนุนการจัดเมนูอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เหมาะกับความต้องการของนักเรียนรายบุคคล รวมถึงโครงการเด็กไทยไร้พุง ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมให้นักเรียนออกกำลังกาย เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะเดียวกันโรงเรียนในสังกัด กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขต โดยครูและฝ่ายเทศกิจช่วยกันดูแลคุณภาพอาหารและความปลอดภัยของร้านอาหารแผงลอยหน้าโรงเรียนและบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งรณรงค์ไม่ดื่มน้ำอัดลมและผลักดันให้ปลอดน้ำอัดลมในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. ไม่จำหน่ายน้ำอัดลมภายในโรงเรียน ตามมาตรการประเมินคุณภาพสถานศึกษา พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องโภชนาการและโทษของน้ำอัดลมในรายวิชาสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีทุกระดับชั้น โดยบูรณาการกับกิจกรรมโครงการอาหารเช้าและโครงการอาหารกลางวัน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สำนักอนามัย กทม. ยังได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ในการแก้ปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหวานของเด็ก โดยขอความร่วมมือโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมดำเนินกิจกรรมป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน รวมทั้งจัดทำคู่มือมาตรการและแนวทางการดำเนินงานป้องกันโรคอ้วน แผนและผลงานการดำเนินมาตรการป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน และหนังสือเมนูสู้โรค ให้กับโรงเรียน ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link