สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยแนะการขนส่งสัตว์ต้องไม่ทารุณกรรมสัตว์

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทยแนะการขนส่งสัตว์ต้องไม่ทารุณกรรมสัตว์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสลดใจเกี่ยวกับการขนส่งสัตว์หลายข่าว เริ่มต้นจากข่าวที่เกิดเพลิงไหม้รถขนสุกรจากยางรถระเบิด ในจังหวัดนครศรีธรรม ราช เกิดเป็นการย่างสดสุกรเป็นๆ อย่างน่าเวทนา จนมาถึงข่าวรถขนสุกรยางแตก ข้ามเลนพลิกค่ำ ทำให้สุกรล้มตายกว่า 50 ตัว บาดเจ็บ กว่า 100 ตัว นอนร้องครวญครางกว่า 4 ชั่วโมงก่อนได้รับการขนย้าย ในจังหวัดอ่างทอง และเมื่อวันที่ 30 พ.ย.62 ข่าวรถขนสุกรเทกระจาด สุกรเสียชีวิตกว่า 100 ตัว ส่วนสุกรที่รอดชีวิตได้ร้องครวญครางเนื่องจากถูกทับ ในจังหวัดชัยนาท

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) มีความห่วงใยกับเรื่องดังกล่าว โดยเห็นว่าการขนส่งสัตว์ ในปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 หรือกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2555 พระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขจำนวนสัตว์หรือซากสัตว์ ลักษณะของพาหนะและอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ.2559 และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 24 ที่กำหนดในเรื่อง การขนส่งสัตว์ เจ้าของต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนด ในวันที่ 25 พ.ย. 2562 ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขนส่งสัตว์ หรือนำสัตว์ไปใช้ในการแสดง พ.ศ.2562 ซึ่งในข้อ 4 ได้กำหนดให้ การขนส่งสัตว์ เจ้าของหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพ ดังนี้
ต้องวางแผนเส้นทางและระยะเวลาในการเดินทางให้มีความเหมาะสม สัตว์ต้องมีสภาพที่พร้อมในการเดินทาง ไม่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บ เว้นแต่มีเหตุอันสมควร พาหนะต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับชนิดสัตว์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็นแล้วแต่ชนิดและประเภทของพาหนะขนส่ง ทั้งนี้ พาหนะขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและมีการบำรุงรักษา การขนส่งสัตว์ต้องไม่ทำให้สัตว์หวาดกลัว บาดเจ็บหรือทุกข์ทรมานทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และสิ้นสุดการเดินทาง รวมทั้งจัดให้สัตว์ได้รับอาหารและน้ำปริมาณและคุณภาพตามความจำเป็นและเหมาะสมขึ้นอยู่ระยะทาง ชนิด และวัตถุประสงค์ในการขนส่ง กรณีที่ต้องใช้ภาชนะหรือกรงเพื่อบรรจุสัตว์ในขณะที่มีการขนส่งสัตว์ ภาชนะหรือกรงนั้นต้องมีความเหมาะสมกับชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์ มีความปลอดภัย ปราศจากวัสดุหรือสิ่งแหลมคมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ มีอากาศถ่ายเท อุณหภูมิเหมาะสม มีพื้นที่และความสูงเพียงพอให้สัตว์ได้นั่งหรือยืนอย่างสบาย กรณีที่จำเป็นต้องวางยาสงบแก่สัตว์ในการขนส่ง ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตว์แพทย์ เป็นต้น
ซึ่งหลังจากนี้เป็นต้นไปถ้าเจ้าของหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งสัตว์ไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็จะมีความผิดตาม มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท สำหรับผู้พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งสัตว์ สามารถแจ้งทางร้องเรียน ผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนภารกิจกรมปศุสัตว์ นอกเหนือจากการติดต่อผ่านโทรศัพท์หรือการแจ้งเหตุด้วยตนเอง อุบัติเหตุย่อมป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท และสัตว์ทุกชีวิตย่อมมีคุณค่า ที่มนุษย์ควรเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมีมนุษยธรรมด้วยการไม่ทารุณกรรมโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ผ่านเลนส์ 005~รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link