แนวทางพัฒนาคุณภาพร้านอาหารริมทาง (Street food) ในพื้นที่กรุงเทพฯ

แนวทางพัฒนาคุณภาพร้านอาหารริมทาง (Street food) ในพื้นที่กรุงเทพฯ
นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยตามที่ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ระบุปัจจุบันอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ด (Street Food) เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น ทุกภาคส่วนควรพัฒนาอาหารริมทางให้มีความสะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภคว่า ที่ผ่านมา สำนักอนามัย กทม. ได้วางแนวทางพัฒนาคุณภาพร้านอาหารริมทาง (Street food) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ดำเนินการตรวจสอบและแนะนำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ แผงลอยจำหน่ายอาหาร สะอาด แข็งแรง ทำความสะอาดง่าย อาหารที่วางจำหน่ายมีการปกปิดเพื่อป้องกันฝุ่น สัตว์ และแมลงนำโรค ห้ามล้างภาชนะอุปกรณ์และเทน้ำเสียในที่หรือทางสาธารณะ ผู้สัมผัสอาหารสวมผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม ขณะเดียวกันได้ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลีน สารฟอกขาว สารกันรา สีสังเคราะห์ และสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ รวมถึงตรวจหาเชื้อก่อโรคระบบทางเดินอาหารในอาหารพร้อมบริโภค หากพบการปนเปื้อน เจ้าพนักงานจะออกคำแนะนำหรือออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการอาหารดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด


รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับด้านผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร ได้จัดอบรมให้ความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของ กทม. ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหารทุกราย ซึ่งช่องทางการส่งเสริมความรู้ ประกอบด้วย การเข้ารับการอบรมในห้องอบรม (Class room) และการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self study) พร้อมทั้งมอบป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ให้กับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. โดยป้ายรับรองเป็นแบบ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์เกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. รวมทั้งความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย โดยจัดทำสื่อต่าง ๆ ได้แก่ อินโฟกราฟิก วิดีโอคลิป เฟซบุ๊ค ยูทูป และเอกสารคู่มือ เผยแพร่ผ่านช่องทางของ 50 สำนักงานเขต รวมถึงเว็บไซต์ของกองสุขาภิบาลอาหารและเฟซบุ๊คของสำนักอนามัย และแอปพลิเคชัน กทม. Connect เป็นประจำทุกเดือน

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link