“นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์”อธ.ศาลอาญา เปิดห้องควบคุมรอประกันศาลอาญาไม่ต้องขังรวมนักโทษอุกฉกรรจ์ที่มาจากเรือนจำ สนองนโยบาย ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ปธ.ศาลฎีกา คุ้มครองหลักสิทธิเสรีภาพ ไม่เเบ่งชั้นวรรณณะ

“นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์”อธ.ศาลอาญา เปิดห้องควบคุมรอประกันศาลอาญาไม่ต้องขังรวมนักโทษอุกฉกรรจ์ที่มาจากเรือนจำ สนองนโยบาย ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ปธ.ศาลฎีกา คุ้มครองหลักสิทธิเสรีภาพ ไม่เเบ่งชั้นวรรณณะ

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เปิดเผยว่า ตามที่นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้แถลงนโยบายประธานศาลฎีกา โดยเน้นในเรื่องการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยกำหนดมาตรการในการขอปล่อยชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพความสะดวกรวดเร็วเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว รวมถึงกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ต้องหาจำเลย เหยื่ออาชญากรรม ผู้เสียหายตลอดจนกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมทุกขั้นตอนของกระบวนการทางศาลนั้น ตนในฐานะ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงมีนโยบายเพื่ออนุวัตให้เป็นไปตามที่ประธานศาลฎีกาแถลง โดยได้จัดให้มี ห้องรอประกันบริเวณชั้น 1 อาคารศาลอาญา ที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดห้องดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ศาลอาญาเป็นศาลที่มีขนาดใหญ่และมีคดีสำคัญที่เข้ามาจำนวนมาก โดยมีปริมาณเกือบ 9,000 คดีต่อปี ผลของคำพิพากษาในคดีอาญา จึงเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย “ ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” การนำผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดเล็กน้อยไม่ร้ายแรง หรือคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องร้องกันเอง ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งกันหรือไม่ และศาลยังไม่มีคำพิพากษาที่ถึงสุดว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้กระทำความผิด ไปควบคุมตัวรวมกับนักโทษที่มีอัตราโทษร้ายแรงหรือคดีอุกฉกรรจ์ ทำให้กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยดังกล่าวและทำให้ไม่ได้รับความสะดวก

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัย ตนจึงจัดห้องรอประกันสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว กำหนดหลักเกณฑ์ดังนี้ 1 .ต้องเป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกันเอง 2.คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน 3. คดีที่ศาลมีคำพิพากษาปรับสถานเดียว และจำเลยประสงค์ขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างชำระค่าปรับ หรืออยู่ระหว่างรอชำระค่าปรับในวันที่ศาลมีคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ว่าใครที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นก็สามารถใช้ห้องดังกล่าวได้ โดยไม่มีการให้ถืออภิสิทธ์ เน้นหลักความเสมอภาค ซึ่งภายในห้องมีขนาดความจุคนได้ประมาณ 15-20 คน จะมีเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือหน่วยรักษาความปลอดภัยมาประจำจุดในห้อง 1 คน พร้อมกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้เพื่อรักษาความปลอดภัย โดยห้องประกันดังกล่าวจะเริ่มเปิดใช้งานจริงในวันที่ 1 ม.ค.63 นี้

นายชูชัย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้เปิดเผยถึงนโยบายการปรับการบริการของศาลอาญาเพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชน ผู้ต้องหาและจำเลยมากขึ้น ว่า คดีที่ศาลลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียวส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดเล็กน้อย หรือคดีที่ศาลเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี ในอดีตระหว่างจำเลยรอการชำระค่าปรับ ตัวจำเลยต้องถูกย้ายไปที่ห้องควบคุมของราชทัณฑ์รวมกับนักโทษอื่นๆ อาจทำให้จำเลยได้รับความอับอาย อีกทั้งญาติของจำเลยต้องลงไปชำระค่าปรับที่ชั้น 2 ของศาลซึ่งใช้เวลานาน ทำให้จำเลยและญาติของจำเลยไม่ได้รับความสะดวก ศาลอาญาจึงเพิ่มช่องทางการบริการรับชำระค่าปรับแก่จำเลย บริเวณใกล้กับห้องพิจารณาคดี ที่ศูนย์นัดความชั้น 8 อาคารศาลอาญาสำหรับจำเลยในคดีที่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา มีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว จำเลยหรือญาติสามารถชำระค่าปรับที่ศูนย์นัดความดังกล่าว โดยจำเลยสามารถรอการชำระค่าปรับในห้องพิจารณาคดีที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จนกว่าจะชำระค่าปรับแล้วเสร็จ

“หลักไม่ได้ยึดตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นตาสีตาสาหรือนักการเมืองก็จะต้องเท่าเทียมกัน แต่ต่อไปก็จะมีการเร่งให้มีการประกันตัวได้เร็วขึ้นเท่าเทียม
ในห้องควบคุมจะมีกล้องวงจรปิดคอยตรวจสอบพร้อมทั้งมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลคอยควบคุมรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่เเล้วเเละเป็นไปตาม นโยบาย ของประธาน ศาลฎีกาที่ให้กับประชาชนผู้มาติดต่อศาลทั่วประเทศปัญหาอันไหนที่เราพบและเราแก้ไขได้เราก็จะดำเนินการแก้ให้ก่อนได้เลย” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าว

นายชูชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้โจทก์ จำเลย ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี มีความประสงค์จะคัดถ่ายเอกสารในสำนวนรวมถึงรายงานกระบวนพิจารณาคำสั่งหรือคำพิพากษา ฯลฯ ต้องไปคัดถ่ายเอกสารที่ชั้น 2 อาจทำให้เสียเวลาด้วยจำนวนคิวที่ยาว บางคนมีจำนวนหน้ามากน้อยต่างกัน และไม่ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ศาลอาญาจึงเพิ่มการให้บริการคัดถ่ายเอกสารช่องทางด่วนพิเศษที่ชั้น 8 อาคารศาลอาญาสำหรับโจทก์จำเลยผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล สามารถยื่นคำร้องขออนุญาตคัดถ่ายเอกสารต่อเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ในห้องพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องลงไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ชั้น 2 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จะนำสำนวนไปดำเนินการคัดถ่ายเอกสารให้ที่บริเวณชั้น 8 ของศาลอาญา โดยคู่ความสามารถรอรับเอกสารที่คัดถ่ายได้ภายในวันเดียวกัน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์คัดถ่ายสำเนาจำนวนไม่เกิน 30 หน้าได้ที่ บริการคัดถ่ายช่องทางด่วนได้เช่นกัน.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link